ปู๊น.... เสียงหวูดรถไฟดังกึกก้องสถานีชุมแสง พลันนึกย้อนกลับไปว่าตัวเองเคยนั่งรถไฟผ่านสถานีชุมแสงไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ไม่เคยคิดที่จะตีตั๋วมาเที่ยวที่ “ชุมแสง” เลยสักครั้ง เหตุเพราะคิดว่าคงไม่มีอะไรให้น่าค้นหา จึงเลือกที่จะมองข้ามเมืองนี้ไป จนมาถึงวันนี้ ผมมีโอกาสได้มาสัมผัสชุมแสงเป็นครั้งแรก ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ แอบนึกเสียดายขึ้นมาทันทีที่ได้รู้จักชุมแสงช้าไป
ชุมแสง ถูกขนาบด้วยทางรถไฟและแม่น้ำน่าน ผังเมืองของเมืองเก่าจะมีตรอกซอกซอยที่ตัดจากทางรถไฟไปบรรจบแม่น้ำน่าน ลักษณะคล้ายตาราง
เพียงก้าวเท้าไม่กี่ก้าวจากสถานีรถไฟชุมแสง ผมก็ได้มาอยู่บนทางเดินเล็กๆ ที่ขนาบข้างด้วยบ้านเรือนไม้แบบโบราณ 2 ชั้น โดยชั้นล่างของบ้านแต่ละหลังส่วนใหญ่จะทำเป็นร้านค้า ชั้นบนจะใช้สำหรับพักอาศัย ผมแอบประหลาดใจอยู่บ้าง ถนนที่มีความยาวราว 100 เมตรจะมีร้านขายทองอยู่ถึง 3 ร้าน คุณอำนาจ กรเอี่ยม ปราชญ์ท้องถิ่นชุมแสงเล่าว่า “เดิมถนนสายนี้คือตลาดกลาง จะมีร้านทองร่วม 10 ร้าน อีกทั้งในชุมแสงยังมีการรับซื้อข้าวเพื่อส่งออกไปยังเมืองนอก มีการก่อตั้งธนาคารถึง 2 แห่ง คือธนาคารการเกษตร จำกัด และสาขาของธนาคารมณฑล จำกัด ซึ่งในสมัยนั้นธนาคารมณฑล จำกัด จะก่อตั้งเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น นั่นแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของเมืองชุมแสงในยุคนั้นได้เป็นอย่างยิ่ง”
ในอดีตถนนทุกสายจากทางรถไฟที่มาบรรจบแม่น้ำน่าน จุดบรรจบนั้นจะเป็นท่าเรือ ปัจจุบันอาจมองไม่เห็นภาพแล้ว แต่ก็ยังพอจะได้กลิ่นอายของการคมนาคมทางน้ำผ่านปั้มน้ำมันที่สร้างขึ้นบนโป๊ะริมแม่น้ำน่านครับ
ชาวชุมแสงมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ศาลเก่าแก่คู่ชุมชนที่มีอายุยาวนานกว่า 149 ปี ชาวชุมแสงเชื่อว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองให้เมืองชุมแสงรอดพ้นจากการถูกไฟไหม้ ศาลเจ้าปัจจุบันเป็นศาลเจ้าใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นแทนที่ศาลเจ้าเดิมซึ่งเป็นไม้สักและได้ชำรุดทรุดโทรมไป ศาลเจ้าใหม่สร้างขึ้นโดยคอนกรีต มีการประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องหลากสีและเขียนลวดลายต่างๆ อย่างสวยสดงดงาม
ภายในศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง
เจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ศูนย์รวมจิตใจชาวชุมแสงมาตั้งแต่อดีต
ชุมแสงแกลเลอรี เป็นสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองชุมแสงผ่านภาพถ่ายและภาพเขียนที่เขียนโดยศิลปินหลายท่าน หนึ่งในนั้นคืออาจารย์ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติชาวชัยนาท ที่ปัจจุบันมาอาศัยอยู่ที่ชุมแสงกว่า 47 ปีแล้ว ชุมแสงแกลเลอรีบริหารงานและดูแลโดยคุณสลิล พันธ์เลือดไทย ครับ
ในชุมแสงแกลเลอรี ยังมีของสะสมของคุณสลิล ที่มีทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ที่นวดข้าว ผงซักฟอก แก้ว น้ำปลา ของเล่น ของแถมที่ได้จากการซื้อสินค้ามากมาย
คุณสลิล สาธิตการนวดข้าวให้ดูด้วยครับ
นอกจากนี้ ที่ชุมแสงแกลเลอรียังมีกิจกรรมวาดหน้าเอ็งกอหรือเหล่าพี่น้องผู้กล้า จากวรรณกรรมจีน”ซ้องกั๋ง” อีกด้วย โดยน้องสกุลไทย คุ้มนุ่น คนรุ่นใหม่ในชุมแสง เจ้าของร้านสกุลไทย บาร์เบอร์ ซึ่งมีฝีมือการวาดหน้าเอ็งกอ โดยครั้งนี้น้องได้วาดหน้า “หนวดแดง” หนึ่งในผู้นำของ 108 ผู้กล้าที่มีนิสัยดุดัน สีแต่ละสีที่ถูกเขียนลงบนใบหน้าจะสื่อความหมายแตกต่างกันไป เช่น สีขาวคือพื้นหน้า สีดำสื่อถึงหนวดเครารุงรัง สีแดงแทนความดุดัน เพิ่มความแฟนตาซีด้วยสีชมพู สำหรับใครที่อยากชมขบวนเอ็งกอแบบจัดเต็ม เห็นทีจะต้องรอช่วงวันคล้ายวันเกิดของเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ที่จะจัดขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยงานจะจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 15 วัน และจะมีการจัดงานใหญ่อีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี
ด้านข้างชุมแสงแกลเลอรี มีภาพ Street Art เพิ่มสีสันให้กับตลาดโบราณชุมแสงด้วยครับ
ถึงแม้ว่าความรุ่งเรืองในอดีตจะจางหายไปบ้าง แต่ปัจจุบันชุมแสงก็ยังคงมีเสน่ห์ มีกลิ่นอายความคลาสสิกให้ได้สัมผัสกันอยู่ อย่างที่โรงพิมพ์สหชัย ป้าตา เจ้าของโรงพิมพ์ สาธิตการเรียงตัวอักษรบนตัวเรียงพิมพ์ให้ผมดูด้วย
จากนั้นป้าตายังสาธิตการพิมพ์การ์ดโดยเครื่องพิมพ์โบราณด้วย ผมเองเพิ่งจะเคยเห็นอุปกรณ์และกรรมวิธีในการพิมพ์แบบโบราณเป็นครั้งแรกครับ
นอกจากโรงพิมพ์โบราณแล้ว ยังมีร้านศรีสุวรรณโอสถ ร้านขายยาสมุนไพรไทย ที่ยังคงใช้ตาชั่งแบบโบราณอยู่ครับ
ไม่ไกลจากตลาดโบราณ เป็นที่ตั้งของบ้านศิลปิน ศุภ’กนิษฐ ภายในจัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ รวมถึงภาพเขียนบุคคลสำคัญหลายท่าน ภาพทั้งหมดเขียนโดย ดร.ศุภชัย สุวรรณกนิษฐ ครับ
ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2559 ซึ่งบ้านของท่านอยู่ในตลาดชุมแสง อาจารย์ได้พูดถึงชุมแสงว่า “คนชุมแสงเป็นคนมีน้ำใจ คนที่อื่นๆ ก็เป็นคนมีน้ำใจ แต่ด้วยการที่ชุมแสงเป็นเมืองเล็กๆ ถูกกั้นไว้ด้วยทางรถไฟและแม่น้ำ สิ่งที่โอบล้อมคนชุมแสงไว้ให้มีน้ำใจต่อกันคือทางรถไฟกับแม่น้ำ นับเป็นความสวยงามของชุมชน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของชุมแสง ชุมแสงไม่ฟู่ฟ่า ไม่ร่ำรวย แต่ว่าบุญเก่าที่สะสมมากว่าร้อยปี ก็กินไม่หมด” ดังนั้นผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ผมก็จะได้พบเจอแต่รอยยิ้มและความมีน้ำใจของชาวชุมแสงไปตลอดทาง
ที่บ้านของอาจารย์ศักดิ์สิริ ยังมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาแสดงฝีมือทางศิลปะกันด้วย ในวันที่ผมไปมีเด็กน้อยมานั่งระบายสีกันหลายคนเลย ใครอยากจะไปพูดคุยกับอาจารย์ สามารถไปได้ที่เรือนศิลป์ (๕)
เดินเที่ยวกันพอหอมปากหอมคอ ต่อไปขอหาอะไรรองท้องบ้างดีกว่า ติดกับเรือนศิลป์ (๕) จะเป็นที่ตั้งของร้านราดหน้าตาโก๊ะ ราดหน้าเตาถ่านในตำนานของตลาดชุมแสง ที่เปิดขายมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 เปิดขายกันตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ถึงแม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่ลูกค้าเยอะมาก อาจต้องรอต่อคิวหากมาในช่วงเที่ยงครับ ราดหน้ามีทั้งแบบใส่ไข่ดาว หรือลูกชิ้นปลา อย่างจานนี้เป็นหมี่กรอบธรรมดา ราคา 40 บาทครับ
เดินย้อนกลับมาที่ชุมแสงแกลลอรี แล้วเดินเลยไปอีกนิด จะเป็นตลาดโบราณ จุดนี้จะมีป้าย ’ชุมแสง’ ให้ถ่ายรูปเก๋ๆ ด้วย
บริเวณตลาดโบราณตรงนี้ มีร้านหอยทอดแป้งกรอบด้วย จานนี้ 40 บาท น้ำจิ้มมีให้เลือก 2 แบบ คือแบบซอสพริก และแบบน้ำส้มครับ
ล้างปากด้วยไอศกรีมตาลโตนด หวาน หอม อร่อยเลยทีเดียว ได้กลิ่นตาลโตนดอบอวลอยู่ในปาก ถ้วยนี้ 20 บาทครับ
ฝั่งตรงข้ามกับตลาดเช้าเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยืนตระหง่านริมแม่น้ำน่าน พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ ว่ากันว่าบริเวณนี้เป็นจุดปะทะของพระเจ้าตากสินมหาราชกับกองทัพของพระยาพิษณุโลก เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวีรกรรมในการกอบกู้บ้านเมืองของพระองค์ ในการศึกครั้งนั้นพระเจ้าตากสินมหาราชทรงถูกกระสุนปืนเข้าที่พระชงฆ์ (แข้ง) พระโลหิตของวีรกษัตริย์ไทยได้หลั่งลง ณ บริเวณแม่น้ำน่านแห่งนี้ จากอนุสาวรีย์นี้สามารถมองเห็นสะพานหิรัญนฤมิตรด้วยครับ
ก่อนกลับขอเดินซึมซับกับบรรยากาศเมืองเก่าอีกสักครั้ง เสน่ห์ของชุมแสงไม่ได้มีเพียงแค่ความคลาสสิกของสถานที่ แต่ยังมีรอยยิ้ม มิตรไมตรีที่ชาวชุมแสงมีให้กับผู้มาเยือนอย่างไม่ขาดสาย
ถึงแม้การเดินเที่ยวในตลาดเก่าชุมแสงจะทำให้ผมเหงื่อไหลไคลย้อย แต่การได้ยินประโยคที่ว่า“ดื่มน้ำบ้านป้าก่อนไหมลูก” เพียงเท่านี้ ก็ทำให้ชุ่มฉ่ำหัวใจ ลืมความเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยครับ
ลุงเสื้อเขียว
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลา 22.22 น.