จากความเดิมตอนที่แล้ว ROMANIA #6 : Cluj Napoca https://th.readme.me/p/5244
เช้าวันใหม่ผมออกเดินทางกันแต่เช้า วันนี้ผมมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่บราซอฟ (Brasov) โดยจะไม่มีการแวะเที่ยวระหว่างทาง ดังนั้นผมจึงเลือกใช้บริการของรถบัสโดยสารครับ จริงๆ แล้วที่โรงแรมนี้มีอาหารเช้าให้ด้วย แต่เนื่องจากผมจะต้องออกเดินทางก่อนที่ห้องอาหารจะเปิด ทางโรงแรมเลยเตรียมแซนด์วิชให้กับพวกผม คนละ 2 ชิ้นโตๆ ครับ
จากโรงแรมผมเรียก Taxi ให้ไปส่งยังท่ารถ ท่ารถของที่นี่เป็นท่ารถเล็กๆ รถก็หลากหลายรูปแบบและสีสัน ไม่เหมือนรถทัวร์บ้านเราที่จะมีโทนสีเดียวกัน ทำให้รู้ว่าเป็นรถโดยสาร
สำหรับการซื้อตั๋วโดยสาร แนะนำให้ประสานกับทางโรงแรมช่วยโทรจองตั๋วล่วงหน้ามาก่อนนะครับ และให้ไปถึงที่ท่ารถก่อนเวลารถออกสักครึ่งชั่วโมงด้วย เพราะผมไม่แน่ใจว่าตอนไปซื้อตั๋วเขาจะเช็คหรือไม่ว่าเราได้จองตั๋วมาล่วงหน้าก่อนหรือไม่ เพราะเห็นมีบางคนที่มาทีหลังก็สามารถมาซื้อตั๋วได้ และที่สำคัญที่นี่จะไม่มีการตีตั๋วยืนนะครับ รถเต็มก็เลิกขายตั๋ว มีบางคนจะขอยืนไปแต่คนขับไม่อนุญาต และการนั่งจะไม่มีการระบุเลขที่นั่งด้วย แถมถ้าผู้โดยสารเต็ม รถจะออกก่อนเวลา นึกดีใจที่ผมมาถึงก่อนเวลา นี่ถ้าผมมาจวนเจียนเวลารถออก ตั๋วอาจจำหน่ายหมดแล้ว แถมรถก็ออกก่อนเวลาเสียด้วย
เท่าที่สังเกตอีกเรื่องคือ ถึงแม้ค่าครองชีพ (อาหาร) ที่นี่จะใกล้เคียงกับบ้านเรา แต่เรื่องค่าโดยสาร ค่าเหมารถ ที่นี่จะแพงกว่าบ้านเราพอสมควรครับ อาจเป็นเพราะน้ำมันที่นี่มีราคาแพงก็เป็นได้ ตกลิตรละประมาณ 40-50 บาท เท่าๆ กับบ้านเราในอดีตเหมือนกันค่ารถจากคลูส นาโปก้า ถึง บราซอฟ คนละ 65 leiใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง โดยรถจะออกจาก Cluj Napoca เวลา 06.30 น. ถึง Tarnaveni 08.30 น., Medias 09.00 น.,Sighisoara 09.45 น. และถึง Brasov เวลา 12.00 น. ครับ
สภาพรถที่ผมโดยสารมาครับ รถจะมาจอดแวะให้ผู้โดยสารได้เข้าห้องน้ำที่ชิกิโชอะราครับ
วิวระหว่างทางครับ
รถมินิบัสพามาส่งยังสถานีขนส่งบราซอฟ โดยรถมาถึงก่อนเวลา 10 นาที ผมนั่งรอรถเช่าที่ติดต่อผ่านทางที่พักไว้ เพื่อให้พาพวกเราไปเที่ยวก่อนที่จะเข้าที่พักครับ
จุดหมายแรกคือ Rasnov Castle แทบไม่ต้องบอกเลยว่าเราเข้าเขตเมืองแรสนอฟ (Rasnov) แล้ว เพราะมีป้าย RASNOV ขนาดใหญ่อยู่บนยอดเขา เราใช้เวลาเดินทางจากบราซอฟ มายังแรสนอฟประมาณครึ่งชั่วโมงครับ
คนขับรถมาจอดส่งผมบริเวณลานจอดรถ การจะขึ้นไปยัง Rasnov Castle สามารถทำได้ 2 ทางคือใช้การเดินเท้า หรือไม่ก็นั่งรถแทรกเตอร์พ่วงตู้โดยสารครับ
ผมเลือกการเดินเท้าครับ ตลอดสองข้างทางผ่านผืนป่า ถือว่าค่อนข้างร่มรื่นเลยทีเดียว แต่เนื่องจากเส้นทางมีความลาดชัน ทำให้เหงื่อเริ่มไหล เสียงหายใจเริ่มดังครับ
ที่กึ่งกลางระยะทางจากลานจอดรถถึง Rasnov Castle จะมีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ด้วย แต่ผมไม่ได้แวะเข้าไป สังเกตเห็นมีแต่พ่อแม่จูงเด็กๆ เข้าไปชมทั้งนั้นเลย
ด้านบนมีผลไม้ตระกูลเบอรี่ขายด้วยครับ
ใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาทีก็มาถึง Rasnov Castle แล้ว ที่นี่เสียค่าเข้าชม 12 lei ครับ
Rasnov Castle เป็นป้อมปราการเพื่อใช้ต่อสู้ป้องกันการรุกรานจากกองทัพตาต้า (Tatars) ก่อนจะได้รับการปรับปรุงและขยายให้ใหญ่โต นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่หลบภัยของชาวบ้านในสมัยโบราณอีกด้วยครับ
เดิมภายในกำแพงเมืองเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนมากกว่า 30 หลัง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนและโบสถ์ แต่ในปัจจุบันป้อมแห่งนี้ได้รับการบูรณะและเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ผมไม่แน่ใจว่าบ้านที่อยู่ในแนวกำแพงยังใช้อยู่จริงหรือไม่ หรือใช้เป็นเพียงร้านขายของที่ระลึกเท่านั้น
บริเวณตรงกลางลานกว้าง จะมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งจุดนี้เองจะมีระเบียงสำหรับไว้ชมวิวมุมสูงได้ครับ
วิวที่มองออกไป เห็นตัวเมืองแรสนอฟแบบสุดลูกหูลูกตาครับ
จากลานกว้าง เดินขึ้นมาอีกนิดจะเป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดของ Rasnov Castle ครับ
จุดชมวิวนี้สามารถชมวิวได้แบบ 360 องศาครับ
วกกลับลงมาด้านล่างบริเวณด้านหน้าป้อม เห็นมีการเรียงหินลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมที่ด้านบนมีทรงโค้ง เดาว่าน่าจะเป็นเครื่องหมายของศาสนาคริสต์ครับ
เห็นมีป้อมเล็กๆ อยู่เลยเดินขึ้นไปดู ก็เลยได้รูป Rasnov Castle มาอีกมุมมองหนึ่งครับ
จาก Rasnov Castle จุดหมายต่อไปของผมอยู่ที่ ปราสาทบราน (Bran Castle) ใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาทีครับ
ด้านหน้าของปราสาทบรานมีร้านขายอาหาร และขายของที่ระลึกมากมาย ผมยังไม่ทันได้แวะเพราะใจตอนนี้อยู่ในปราสาทบรานแล้ว และตั้งใจแวะหาดูของฝากตอนที่ออกจากปราสาทแล้วครับ
สำหรับการเข้าชมปราสาทจะต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 35 lei เป็นการเหมาจ่ายค่าถ่ายรูปไปในตัวเลย ใครจะถ่ายหรือไม่ถ่ายรูปก็เสียค่าเข้าชมเท่ากันครับ
หลายคนคงเคยได้ยินตำนานแห่งแดร็กคูล่ามาบ้างแล้ว และโรมาเนียนี่แหล่ะคือดินแดนลึกลับที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวในนิยาย "แดร็กคูล่า" โดยนักเขียนชาวไอริสชื่อ บราม สโตกเกอร์ ที่ได้นำแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของโรมาเนียในยุคที่ยังแบ่งเป็นแคว้นวัลลัคเฮีย ทรานซิลเวเนีย และมอลดาเวีย สร้างตัวละคร "แดร็กคูล่า" แวมไพร์ผู้เป็นอมตะ ขึ้นมาจากประวัติของเจ้าชายวลาส ที่สาม แห่งวัลลัคเฮีย ผู้ปกครองดินแดนวัลลัคเฮีย ทรงเป็นบุตรของ วลาส ที่สอง หรืออีกนามหนึ่งคือ วลาส ดราคูล (Vlad Dracul) ซึ่งคำว่าดราคูล เป็นภาษาโรมาเนี่ยน แปลว่า มังกร (Dragon) ดังนั้นเจ้าชายวลาสที่ 3 จึงได้รับการเรียกขานตามธรรมเนียมการใช้ชื่อของบิดามาเป็นชื่อของตน ว่าเจ้าชายวลาส ดราคูล ที่ 3 (Vlad III Dracul)
ในช่วงที่เจ้าชายวลาสมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ได้ทรงปกครองวัลลัคเฮียในช่วงเวลาแห่งสงคราม ต้องเผชิญหน้าทั้ง อาณาจักรฮังการีและจักรวรรดิออตโตมัน ที่พยายามยึดครองวัลลัคเฮียมาเป็นประเทศราชให้จงได้
เจ้าชายวลาสมีชื่อเสียงทั้งเรื่องความเป็นนักรบที่เก่งกล้าและความโหดร้ายที่กระทำต่อข้าศึก เชลยที่ถูกจับได้จะถูกนำมาทรมานด้วยการใช้ไม้แหลมเสียบแล้วปักไว้บนทุ่งหญ้ากว้าง ให้เชลยค่อยๆ ทรมานและตายไปในที่สุด ถือเป็นวิธีการที่โหดเหี้ยมมากๆ นั่นจึงเป็นสมญานาม วลาส เทเปส (Vlad Tepes) หรือ วลาส นักเสียบ
ปราสาทบราน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อปราสาทแห่งตำนานแดร็กคูล่า จริงๆ แล้วปราสาทบรานไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับนิยายแดร็กคูล่าเลย แต่ปัจจุบันปราสาทแห่งนี้กลับถูกมโนว่าเป็นปราสาทแดร็กคูล่าไปเสียแล้ว
ปราสาทบรานสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1212 โดยอัศวินชาวเยอรมัน ตัวปราสาทสร้างอยู่บนหน้าผา อาคารต่างๆ สร้างขึ้นด้วยไม้ บนเส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมระหว่างทรานซิลเวเนียกับวัลลัคเฮีย และได้มีการก่อสร้างปรับปรุงปราสาทมาเรื่อยๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้กับกองทัพเติร์ก ต่อมาสภาเมืองบราชอฟได้ถวายปราสาทบรานให้แก่พระราชินีมาเรีย แห่งโรมาเนีย (มีศักดิ์เป็นหลานของพระราชินีวิคทอเรียแห่งสหราชอาณาจักร) ปราสาทแห่งนี้จึงได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่ โดยโครงสร้างด้านนอกยังคงเหมือนเดิม และมีการตกแต่งภายในให้ดูน่าอยู่ขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นพระราชวังฤดูร้อนตามพระประสงค์ของพระราชินีมาเรีย และต่อมาปราสาทแห่งนี้ตกทอดสู่เจ้าหญิงอิเลน่า พระธิดาของพระราชินีมาเรียครับ
ต่อมาในปี ค.ศ.1948 พรรคคอมมิวนิตน์ได้เข้ายึดปราสาทหลังนี้ และเนรเทศเชื้อพระวงศ์ออกนอกประเทศ ปราสาทหลังนี้จึงทรุดโทรม ไม่มีการดูแลเป็นเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งปี ค.ศ.1989 หลังการปฏิวัติในโรมาเนียและการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงปรับปรุงปราสาทบรานให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์
จนเมื่อกลางปี ค.ศ.2006 ปราสาทบรานก็ถูกส่งมอบคืนให้กับเจ้าของที่แท้จริง ผู้ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าหญิงอิเลน่า คือ Dominic of Habsburg ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 69 ปี ทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ในกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
และในปลายปี 2007 Habsburg ก็ประกาศขายปราสาทบราน โดยตั้งราคาไว้ที่ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเงื่อนไขที่ผู้ซื้อต้องรักษาและเคารพต่อประวัติความเป็นมาอันยาวนานของปราสาทแห่งนี้ แต่ท้ายสุดเห็นว่าเปลี่ยนใจไม่ขายปราสาทแห่งนี้แล้ว แต่เปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับพระราชินีมาเรียและสืบสานความเป็นมาของปราสาทแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไปครับ
ภายในปราสาทยังมีทางเดินลับๆ แคบๆ พอดีตัว ไปยังห้องต่างๆ ครับ
ห้องหับต่างๆ มากมายจริงๆ
ลานระเบียงนี้สามารถชมภายนอกของปราสาทอีกด้านหนึ่งได้ครับ
มองออกมาจะเป็นมุมนี้ครับ
เดินไปเดินมา มาโผล่มุมนี้ครับ เป็นลานกว้างพอประมาณอยู่ด้านบน สามารถชมวิวได้เช่นกัน
วิวที่มองออกไปครับ
นับกันไม่หวาดไม่ไหวครับ บางห้องก็เป็นห้องใหญ่ บางห้องก็เล็ก บางห้องก็เชื่อมต่อกันได้ด้วย
ห้องนี้เก็บเครื่องแต่งกาย รวมถึงชุดเกราะครับ
ห้องเล็กๆ นี้เป็นห้องทรมาน
ห้องหับเยอะมากจริงๆ นี่ขนาดไม่ได้เปิดให้ชมทุกห้องนะครับ ยังใช้เวลาเดินชมนานร่วมชั่วโมงเลยครับ
เห็นว่าเป็นตาชั่งที่ใช้ชั่งว่าเป็นมนุษย์หรือปีศาจ
ขาออกจากปราสาทบราน ผิดแผนนิดหน่อยครับ เดิมทีเดียวผมตั้งใจว่าจะออกทางประตูที่ซื้อตั๋ว เพื่อแวะชอปปิ้งกันซะหน่อย แต่พอเอาเข้าจริงๆ ณ ตอนนั้นทั้งเมื่อย ทั้งร้อน เลยขอออกประตูข้างซึ่งอยู่ใกล้กับที่จอดรถมากกว่า เลยพลาดการชอปปิ้งเลยครับ
ติดตามชม ROMANIA #8 : Brasov ได้ที่ https://th.readme.me/p/5247
ลุงเสื้อเขียว
วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 19.49 น.