แพขนานยนต์หรือที่ชาวลาวเรียกกันว่า “บัก” บรรทุกผู้โดยสารและรถยนต์ข้ามแม่น้ำโขงเข้าเทียบท่าริมฝั่งแม่น้ำอีกฟากหนึ่งของเมือง “ปากเซ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหานครอันยิ่งใหญ่ของลาวฝ่ายใต้ที่ใครๆต่างก็รู้จักกันในนามของ “จำปาสัก”
หากเราเดินทางจากอุบลราชธานี เข้าสู่ดินแดนของลาวฝ่ายใต้แห่งนี้ ปากเซคือด่านหน้าของจำปาสักที่เราจะต้องผ่านเข้าไป ที่นี่แม้จะเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มากนัก หากแต่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในลาวใต้ รองลงมาจากเวียงจันทน์และสะหวันนะเขต เป็นเมืองที่มีการขยายเศรษฐกินเติบโตออกไปไม่น้อย ออกจะวุ่นวายไม่เหมือนกับหลวงพระบางที่เป็นเมืองใหญ่แต่กลับเงียบสงบ
ฝรั่งเศสสร้างเมืองปากเซขึ้นมา เมื่อ ค.ศ.1905 เพื่อที่จะให้ลดทอนอำนาจของนครจำปาสักลงไป ดังนั้น สถาปัตยกรรมต่างๆมากมายที่ในเมืองปากเซส่วนใหญ่ จึงมักจะออกไปในรูปทรงของยุโรปเสียมากกว่าเรียกว่าถึงเก่าแต่ก็ดูขลังไม่น้อยเหมือนกัน
นอกจากแม่น้ำโขงจะไหลพาดผ่านเมืองปากเซแล้วนั้น ในเมืองเล็กๆที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของแขวงจำปาสักปัจจุบันนี้ ก็ยังมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งไหลผ่าน ซึ่งชาวลาวเรียกกันว่า “แม่น้ำเซโดน” อันเป็นที่มาของคำเรียกหาชื่อเมืองปากเซในปัจจุบัน
จากสะพานข้ามแม่น้ำเซโดนแห่งนี้ ถ้าหากเรามองลงไปที่ฝั่งเมืองปากเซ ก็จะแลเห็นบ้านพักของคุณดาวเรืองซึ่งเป็นเจ้าของกาแฟดาว เศรษฐนีที่รวยที่สุดในลาวใต้ และไกลออกไปนั้น เป็นโรงแรมจำปาสักพาเลซ ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหน้า ซึ่งโรงแรมแห่งนี้ เดิมทีเคยเป็นวังเก่าของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสัก อดีตเจ้าผู้ครองนครจำปาสักองค์สุดท้าย ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของลาว ก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เจ้าบุญอุ้มหลบหนีออกจากประเทศลาวเข้าไปลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2517 ขณะที่วังแห่งนี้ยังสร้างไม่ทันแล้วเสร็จ และอีกไม่กี่ปีต่อมาท่านจึงถึงแก่พิราลัยที่ในกรุงปารีสนั่นเอง
หลังการปฏิวัติในแผ่นดินลาวสำเร็จลง พระราชวังแห่งนี้จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นที่ประชุมพรรค และเป็นที่พำนักของแขกบ้านแขกเมืองที่ไปเยี่ยมเยือนปากเซ ก่อนที่จะมีนักธุรกิจชาวไทยได้เข้าไปเจรจากับรัฐบาลลาวปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวังเก่าแห่งนี้ ให้กลายเป็นโรงแรมที่มีความทันสมัยมากที่สุดในลาวใต้
นอกจากโรงแรมจำปาสัก พาเลซซึ่งถือว่าหรูหราที่สุดในจำปาสักแล้วนั้น ก็ยังมีโรงแรมเอราวัณ ริเวอร์ไซด์ และโรงแรมแกรนด์ จำปาสัก ซึ่งถือว่าหรูหราไม่น้อยไปกว่ากัน เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวของประเทศลาวเลย สำหรับนักท่องเที่ยวธรรมดา ที่เดินทางแบกเป้ หาที่พักไม่แพงนัก ก็มีโรงแรมเล็กๆมากมาย ราคาคืนละ 350 ขึ้นไปพอที่จะอาศัยซุกหัวนอนได้อย่างสบาย
ที่สำคัญ แม้จะเป็นเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลจากเมืองก็ตาม หากแต่ในยามราตรีของเมืองแห่งนี้ หาได้มีความเงียบเหงาไม่ เพราะ “ร้านกินดื่มราตรี” มากมาย ล้วนแล้วแต่มีดนตรีเอาไว้บรรเลงกล่อมใจ รวมไปถึงให้ได้เต้นรำกันจนถึงเที่ยงคืน
อย่างที่บอกเอาไว้แล้วว่า ผู้คนที่เดินทางมายังปากเซนั้น ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายอยู่ห่างออกไปไกลเกือบสามสิบกิโลเมตรเศษ ใกล้กับเมืองจำปาสัก อันเป็นเมืองเก่าในอดีตที่มีความรุ่งโรจน์เกรียงไกร โดยเฉพาะปราสาทโบราณที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาที่เราเรียกกันว่า “ปราสาทวัดภู” นั่นเอง
ในตำนานของวัดภูนั้น มีผู้เล่าเอาไว้ว่า ปราสาทแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรฟูนัน หรืออาณาจักรพนมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขอมโบราณ ซึ่งปราสาทวัดภูนั้นสร้างขึ้นโดย “พระเจ้าทรวรมัน” ผู้ครองนครสะมะพู ในแคว้นจำปา ซึ่งได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นมาเมื่อสมัยพุทธศตวรรษที่ 8 หรือประมาณ พ.ศ.933 –พ.ศ.943 ซึ่งในยามนั้น ได้มีบันทึกเรื่องราวของอาณาจักเหล่านี้ไว้ในบันทึกของม้าต้วนหลินว่า
“ ในเมืองหลวงของประเทศเจนละ ( จาม - ผู้เขียน) นี้ มีเรือนประมาณสองหมื่นหลัง กลางเมืองมีหอโรงใหญ่เป็นที่ประทับกษัตริย์เสด็จออกว่าการ และมีเมืองขึ้น 30 เมือง แต่ละเมืองมีบ้านเรือนหลายพันหลัง.....
บรรดาประชาชนพลเมือง พวกผู้ชายมีรูปร่างเล็ก และผิวดำ แต่พวกผู้หญิงผิวขาวนิดหน่อย ประชาชนเกล้าผมและใส่ตุ้มหู ท่าทางว่องไว และแข็งแรง อาบน้ำทุกเช้า และใช้กิ่งไม้เล็กๆถูฟัน....
บริเวณพื้นที่ของอาณาจักรทางด้านเหนือ เป็นห้วยเหว และหุบเขา ทางด้านใต้เป็นที่ลุ่มและบึงใหญ่ อากาศไม่สู้จะสบายเท่าใด ตามที่ราบปลูกข้าวเป็นส่วนมาก ในฤดูเดือนห้า เดือนหก มีพายุร้ายพัดมาเมอ ประชาชนต้องฆ่าหมู และแกะบูชาประตูเมืองทางทิศตะวันตก เพื่อปัดเป่าภัยพิบัติอันเกิดจากพายุร้ายให้เบาบางลง......
และใกล้กับนครอีสานปุระมีภูเขาเล็กๆลูกหนึ่ง บนยอดภูเขานั้นได้สร้างเทวาลัยไว้ และที่เทวาลัยได้มีทหารจำนวนพันอยู่รักษาประจำมิได้ขาด เทวาลัยนี้สร้างถวายแด่เทพเจ้าองค์หนึ่ง และต้องฆ่าคนบูชายัญ พระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปทำการบูชายัญที่เทวาลัยนั้นด้วยพระองค์เองในเวลากลางคืนทุกปี”
แน่นอนว่าเรื่องนี้มิใช่เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ เพราะในขณะเดียวกันพงศาวดารส่วย ในระหว่าง พ.ศ.1132- พ.ศ.1161 ได้บันทึกเอาไว้ว่า
“ อยู่ใกล้นครหลวง มีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง ชื่อว่า ลิงกิยโปโป ( ลิงคะปรวตะ ) ที่ยอดภูเขานั้นมีปราสาทหลังหนึ่ง มีทหารหนึ่งพันคนรักษาประจำอยู่เนืองนิตย์ ปราสาทหลังนี้สร้างให้แก่เทพเจ้าองค์หนึ่งชื่อว่า โปโตลิ ( ภูตเศวระ ) โดยมีการฆ่าคนเป็นเครื่องบูชายัญทุกๆปี พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จไปในปราสาททำพิธีบูชายัญด้วยพระองค์เองในเวลากลางคืน”
ศิลาจารึกรุ่นต่อมา ใน พ.ศ.1193 กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ได้ขึ้นเสวยราชย์ และพระองค์ได้สั่งให้พราหมณ์ทิวากร ก่อสร้าง หอพระศิวะขึ้นมาที่ภูเขาพนมสันดักในประเทศเขมร และปราสาทเขาพระวิหาร จากนั้นจึงให้สร้างหอพระศิวะขึ้นมาที่บนวัดภูด้วย และแม้ว่าพระองค์จะทรงย้ายไปประทับอยู่ที่เมืองอังกอร์ หากแต่ว่ายังเป็นองค์อุปัฏฐากวัดภูอยู่เช่นเดิม
ซึ่งทั้งหมดนี้ คือที่มาของปราสาทวัดภู ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงจำปาสักเมื่อคราวที่ขอมเรืองอำนาจอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนหน้าที่จะล่มสลายลงไป และทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น แยกย้ายออกไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา
แต่ถ้าหากว่าไม่หยิบเอาเรื่องเล่าอันเป็นตำนานขึ้นมากล่าวถึงกันและพูดถึงเรื่องราวตามประชุมพงศาวดารของไทยเรานั้น ได้มีการกล่าวถึงนครจำปาสักเอาไว้ว่า หลังจากที่เมืองแห่งนี้ร้างเรื้อไปนานนับเป็นพันปี นครแห่งนี้ จึงมีพวกจามเข้ามาปกครอง และสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ให้ชื่อว่า “จำปานคร” โดยมีเจ้าเมืองแต่เดิมเรียกกันว่า “ท้าวคัดทะนาน”ซึ่งสืบทอดเชื้อสายลูกหลานมาจนถึงสมัยของพระยากามะทา
ครั้นเมื่อพระยากามะทาสิ้นพระชนม์แล้ว มีเจ้าเขมรองค์หนึ่งยกพลมายึดเอาเมืองจำปานคร แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมือง “กาฬจำปากนาคบุรี” เจ้าเขมรองค์นี้ปกครองเมืองสืบต่อมาจนถึงเจ้าสุทัศนราชาที่บังเอิญว่าเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วไม่มีราชโอรสสืบสันติวงศ์ต่อ เมืองกาฬจำปากนาคบุรี จึงขาดเจ้าเมืองอยู่นานถึง 10 ปีนับ
จนกระทั่งถึง พ.ศ.2181 ชาวเมืองจึงได้เชิญให้ชายผู้หนึ่งขึ้นเป็นเจ้าเมืองครองราชย์ แต่เมื่อชายผู้นั้นตายแล้ว ก็ไม่มีลูกชาย เพราะได้ถูกสาปเอาไว้แต่ครั้งโบราณ ดังนั้นจึงมีแต่ลูกสาวชื่อนางเพาที่ขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองปกครองต่อจากบิดา
ในเวลานั้น เจ้าปางคำ อยู่ที่นครเวียงจันทน์ มีตำแหน่งในยามนั้นเป็นนายกองช้าง ออกไปเลี้ยงช้าง และแอบฝึกช้างอยู่ที่หนองบัวลำภูได้พาไพร่พลของตนลงไปเที่ยวคล้องช้างถึงจำปาสัก เกิดไปชอบ ไปรักกับนางเพาเข้า จนกระทั่งมีลูกสาวหนึ่งคนชื่อว่านางแพง หลังจากนั้นเจ้าปางคำจึงได้กลับไปยังเวียงจันทน์ ต่อมาเมื่อมารดาตาย นางแพงจึงได้ขึ้นปกครองบ้านเมืองสืบต่อ
ในขณะเดียวกันที่เมืองเวียงจันทน์นั้น สมเด็จพระสุริยวงศา เจ้านครเวียงจันทน์สวรรคต พระยาเมืองจัน ผู้เป็นเสนาบดีได้ชิงราชสมบัติและจะรับเอานางสุมังคลาขึ้นมาเป็นชายา หากแต่ว่านางซึ่งตกเป็นหม้าย และมีครรภ์แก่ ไม่ยอม จึงได้นำเอาโอรสองค์ใหญ่คือเจ้าองค์หล่อหนีไปพึ่งญาติโยมของพระครูยอดแก้วที่วัดโพนสะเม็ก
พระยาเมืองจันติดตามไปรังควานจะฆ่าพระครูให้ได้ ท่านจึงได้พาผู้คนอพยพหนีตายไปจากเมืองเวียงจันทน์ โดยเอานางสุมังคลากับลูกชายไปซ่อนเอาไว้ที่ภูสะง้อแขวงเมืองบริคัน นางจึงได้ประสูติโอรสอีกองค์ที่นั่น ให้ชื่อว่า เจ้าหน่อกษัตริย์
พระครูยอดแก้วอพยพผู้คนตั้งบ้านเมืองไปตามรายทาง จนกระทั่งมาถึงดอนโขง และนครจำปาสักของนางแพง ด้วยความศรัทธาที่มีต่อพระสงฆ์องค์นี้ นางแพงจึงมอบบ้านเมืองให้ปกครองว่ากล่าวสั่งสอนประชาชน ผู้คนให้ความนับถือกันเป็นจำนวนมาก
ต่อมาพระครูยอดแก้วเห็นว่า ตนเองเป็นพระ ในขณะที่กิจธุระบางอย่างไม่เหมาะที่จะให้สงฆ์ปฏิบัติ ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ จึงให้คนไปเชิญนางสุมังคลากับเจ้าหน่อกษัตริย์มาปกครองเมืองจำปาสักแทน
เจ้าหน่อกษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชย์เมืองจำปากสักแล้วจึงได้มีพระนามใหม่ว่า “ พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร” และได้แบ่งเขตแดนออกจากเมืองเวียงจันทน์ฟากฝั่งแม่โขงทางฝั่งขวา นับตั้งแต่เมืองมุกดาหารลงไปทางด้านตะวันตก เอาเขตเมืองสุวรรณภูมิ ทุ่งกุลาร้องไห้ และสายแม่น้ำยัง ซึ่งไหลตั้งแต่ดงหมากอีใต้เมืองนครพนมไปยังแม่น้ำชี เหนือเมืองยโสธรเป็นเขตแดน และแคว้นจำปาสัก ก็ได้กลายเป็นประเทศเอกราชที่ไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์นับแต่นั้นมา
มีเรื่องเล่าที่กล่าวกันว่า สาเหตุที่เมืองจำปาสักได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองกาฬจำปากนาคบุรีนั้น ก็เนื่องจากชาวเมืองเชื่อกันว่า “หลี่ผี” ที่อยู่ห่างลงไปทางใต้ของเมืองนี้ ก็คือสถานที่เป็นปากทางสู่เมืองบาดาลนาค หากแต่เมื่อมาถึงสมัยเจ้าสุทัศนราชา ชาวเมืองจำปาสักได้ลบหลู่ดูหมิ่นพญานาค และเมืองเก่าจำปาสัก หรือปราสาทวัดภู ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาร้าง จนกระทั่งทำให้เมืองนี้ถูกสาปว่าจะสิ้นไร้สันติวงศ์ ไม่มีผู้ชายครองเมืองจนกว่าที่จะมีหน่อเนื้อกษัตริย์มาเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่
ต่อมาเมื่อสมัยเจ้าไชยกุมาร พระโอรสของพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรขึ้นครองราชย์นั้น กองทัพไทยได้ยกกองทัพไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์กับหลวงพระบางได้ และผ่านไปทางเมืองจำปาสัก เจ้าไชยกุมารก็ยอมสวามิภักดิ์ต่อเมื่อสยาม สามแผ่นดินของลาวจึงได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของไทยนับแต่นั้นมา
มาว่ากันถึงปราสาทวัดภู ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปจากเมืองปากเซทางใต้ และอยู่ใกล้กับเมืองจำปาสักบริเวณวัดบ้านทุ่งซึ่งเป็นประตูไปสู่เมืองเก่าปราสาทวัดภูที่ผู้คนยังเชื่อกันว่ายังมีคำสาปอยู่เช่นเดิม ซึ่งการเดินทางสู่ปราสาทวัดภูอย่างสะดวกสบายนั้น คงต้องใช้บริการด้านเรือโดยสารซึ่งจะออกจากเมืองปากเซทุกเช้าล่องลงสู่ทางใต้ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็จะถึงจำปาสัก เพราะถ้าหากเดินทางด้วยรถยนต์นั้น ต้องบอกกันก่อนว่า เส้นทางนั้นจะทำให้ท่านสะบักสบอมกันพอสมควร
ปราสาทวัดภูจะอยู่ห่างออกมาจากเมืองจำปาสักประมาณ 9 กิโลเมตร ซากปราสาทราชวังเก่าเหล่านี้ยังคงถูกรักษาดูแลไว้เป็นอย่างดี และประเพณีบวงสรวงบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษตามที่เคยปฏิบัติมาทุกวันนี้ก็ยังมีโดยงานดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นมาในคืนวันเพ็ญเดือนสามเฉกเช่นอดีตสู่ปัจจุบัน
ทุกวันนี้ แม้วันเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนับนานเป็นพันๆปี หากแต่ที่ปราสาทวัดภูซึ่งอยู่ห่างไกลจากความเจริญมากมายแห่งนี้ก็ยังมีผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญจนถึงที่นี่มากมายในแต่ละวัน ซึ่งเราจะได้เห็นการสักการะบูชาจากพวงมาลัยและดอกไม้ที่พวกเขาได้นำมาโปรยถวายบูชาเพื่อสักการะตามจุดต่างที่พวกเขาเชื่อกันว่า มีเทพยดาและสิ่งศักดิสิทธิ์สถิตอยู่
แม้ว่าสงครามการต่อสู้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผ่านมาจะหนักหน่วงรุนแรงมากในแผ่นดินลาว แต่เราจะเชื่อหรือไม่ว่า การสู้รบที่ผ่านมาในครั้งนั้น ไม่มีใครกล้าที่จะเวียนผ่านไป หรือเฉียดเข้าไปใกล้ปราสาทวัดภู หรือใช้ปราสาทวัดภูเป็นชัยภูมิในการต่อสู้แม้แต่ครั้งเดียว
ทั้งนี้เพราะเหตุใด ก็คงจะไม่ต้องมีการอธิบายให้มากความ เพราะตามความเชื่อของพวกเขานั้น ปราสาทโบราณแห่งนี้ คือสถานที่มีเอาไว้เพื่อทำพิธีฆ่าคนบูชายัญ เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่มีใครกล้าเอาตัวและชีวิตเข้าไปเสี่ยงถวายให้เป็นเครื่องบูชายัญอย่างแน่นอน......
ขอขอบคุณ
- บริษัท อินฟินิตี้ พลัสเทรดดิ้ง จำกัด
- FOTOPRO THAILAND สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพ
อาร์ม อิสระ
วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 21.02 น.