เริ่มเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนกันแล้ว ก่อนอื่นขอบอกว่าผมไม่ได้จะมาชวนเพื่อนๆไปปีนเขา เดินป่าทรมานกันที่ไหน เหมือนกับ Review อื่นๆที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้จะมารีวิวเอาใจเพื่อนๆที่ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติและชื่นชมดอกไม้นานาพรรณท่ามกลางศิลปะที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ไร้การปรุงแต่ง ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนนี้ เพื่อนๆหลายๆคนก็คงจะนึกถึงกุหลาบพันปีที่จะบานสะพรั่งอวดโฉมอยู่บนยอดดอยต่างๆ ดังนั้น ครั้งนี้ผมก็เลยมีโอกาสงงๆมึนๆตามมาเที่ยวตามคำชวนของพี่ๆที่เที่ยวด้วยกันบ่อยๆ มายังเขตพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอัญมณีเม็ดงามแห่งผืนป่าภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากที่แห่งนี้ "ภูหลวง" เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.เลย เช่นเดียวกับภูดังๆที่พูดปุ๊ปก็ร้องอ๋อ…..กันแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น "ภูกระดึง" ที่ใครๆก็อยากไปเป็นผู้พิชิต หรือ "ภูเรือ" ที่ใครๆก็ขึ้นไปถ่ายรูปกับแท่งเทอรืโมมิเตอร์หนาวสุดแดนสยาม เทียบกันแล้วภูหลวงก็คงจะไม่โด่งดังอะไรมากนัก เพราะที่นี่ไม่มีวิวทะเลหมอกสุดอลังการ หรือความท้าทายแบบวัดใจขาลุย แต่ที่นี่มีทีเด็ดที่ 2 ภูนี้ไม่มีก็คือ "พรรณไม้สุดอลังการ" ที่ยากจะหาภูไหนๆมาเทียบ ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบขาว กุหลาบแดง ไปยันกระทั่งกล้วยไม้นานาพันธุ์ที่ต่างแข่งกันบานออกมาอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางเข้ามาชื่นชมความงามของมันอย่างเป็นมิตร ขนาดคนเฉยๆกับพวกดอกไม้พรรณไม้อย่างผม ผมยังหลงรักที่นี่เข้าอย่างจัง จนมั่นใจว่ายังไงก็จะกลับมาที่นี่อีกแน่นอน เกริ่นมาก็พอสมควร ได้เวลาสะพายเป้แล้วตามมาชมความงามกับพวกเรากันเลย


B A C K P A C K T I M E
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เ มื่ อ หั ว ใ จ ส ะ พ า ย เ ป้
ก า ร เ ดิ น ท า ง จึ ง เ กิ ด ขึ้ น


ถ้าชอบเที่ยว Backpack อยากแลกเปลี่ยน พูดคุย แบบกันเองๆ ได้ที่นี่เลยจ้าาา :

https://www.facebook.com/backpacktime


"ภูหลวง" มีความหมายถึงภูเขาที่สูงใหญ่หรือภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน แค่ได้ยินชื่อก็รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของภูแห่งนี้แล้ว โดยถ้าเพื่อนๆที่ต้องการมายังภูหลวงแห่งนี้ ก่อนอื่นก็ต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามเบอร์ที่ให้นี้เลย


"0-4280-1955 หรือ 085-272-5946"


เพราะที่นี่ไม่ใช่อยู่ๆคิดจะมาก็มาได้เลย เนื่องจากเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็เลยมีกฏกติกามารยาทเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย เพื่อคงไว้ซึ่งธรรมชาติและสัตว์ป่าให้อยู่คุ่กับพวกเราตลอดไป อย่าไปคิดว่ายุ่งยากเลยนะ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้กันกันในทริปนี้ ขออนุญาตบอกคร่าวๆนะครับ เพราะราคาต่างๆขึ้นอยู่กับเราซะส่วนใหญ่ และผมก็ไม่ได้ประหยัดอะไรมากมาย แวะนู่นแวะนี่ไปเรื่อย

1. ค่าน้ำมันไป-กลับ มาเยอะก็ตัวหารเยอะ ตีคร่าวๆ ก็คนละ 600 บาท

2. ค่าที่พัก ถ้านอนเต๊นท์ 1200 บาท ถ้านอนบ้านพักก็แล้วแต่จะให้

3. ค่าอาหารเช้า ข้าวต้ม กาแฟ หัวละ 100 บาท

4. ค่าข้าวห่อกลางวัน หัวละ 80 บาท

5. ค่าอาหารเย็น หัวละ 200 บาท

6. ค่าน้ำ ขนม จิปาถะ ก็คนละประมาณ 200 บาท

หมายเหตุ อาหารทั้งหมดเป็น Buffet เติมได้ไม่อั้น เจ้าหน้าที่ที่นี่น่ารักมากๆ ทำงานหลายตำแหน่งสุดๆ ทั้งเป็นคนต้อนรับ คอยเสริฟอาหาร ให้คำแนะนำ ยันกระทั่งเป็นคนนำทาง

สรุปค่าใช้จ่ายตลอดทริป (โดยประมาณ) 3วัน 2คืน ใช้เงินประมาณ 2000บาท ต่อคน!!!


การเดินทางมายังภูหลวงนั้น ยังไม่มีรถโดยสารที่จะเข้ามาโดยตรง ถ้าจะมาที่นี่ ถ้าให้ดีควรที่จะขับรถมาเองมากกว่า หรือไม่ก็ต้องหาเหมารถเข้ามา ซึ่งผมเองไม่ทราบเหมือนกันว่าราคาจะประมาณเท่าไหร่ แต่ถนนที่นี่ดีครับ ลาดยางแล้ว รถไม่จำเป็นต้องเป็น 4x4 ก็ขึ้นมาได้สบายๆ แต่ก็ขอให้ขับช้าๆนะครับ เนื่องจากระหว่างทางนี่เป็นถิ่นของพี่งวงยาวเค้า ขับไปมองบนถนนจะเห็นขี้ใหม่ๆสดๆเรียงรายตลอดทางแบบว่าไม่ต้องสังเกตุก็เห็นชัดๆ คือถ้าเกิดขับไม่ระวังแล้วไปจะเอ๋กับพี่เขาก็ตัวใครตัวมันล่ะกันครับ!!!

อย่างครั้งนี้ผมขึ้นไปตอนราวๆบ่าย4 ผมยังเจอหมูป่าตัวเป็นๆ ตัวดำทะมึน มายืนกินโป่งอยู่เลย แต่ถ่ายไม่ทันรถวิ่งเลยไปก่อน ไม่ทันแม้แต่หยิบกล้อง เสียดายมากๆ

โดยการเดินทางมากจากกรุงเทพมาได้ 2เส้นทางคือ

1. กรุงเทพ-สระบุรี-หล่มสัก-หล่มเก่า-ด้านซ้าย-ภูเรือ-ภูหลวง (แนะนำเส้นนี้ จะได้แวะเที่ยวภูเรือก่อนเข้าภูหลวงได้)

2. กรุงเทพ-สระบุรี-สีคิ้ว-ชัยภูมิ-ชุมแพ-ภูกระดึง-เลย-ภูหลวง


ที่แรกที่มาถึงหลังจากจ่ายชำระค่าธรรมเนียมอุุทยาน ก็คือที่นี่เลย "หน่วยโคกนกกระบา" ชื่อหน่วยพิทักษ์ป่า ที่เปิดให้ท่องเที่ยวที่สำคัญภายในภูหลวงแห่งนี้ หรือก็คือสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางในการท่องเที่ยวของเราในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการกินอาหาร ที่พัก สอบถามข้อมูล ติดต่อเจ้าหน้าที่ ก็รวมอยู่ที่นี่ทั้งหมด ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะมีหินรูปทรงเดียวกับนกกระบาตามรูปข้างบน หรือบางคนก็รู้จักในนาม นกตบยุง ตั้งเด่นสง่าอยู่ภายในเส้นทางศึกษธรรมชาติบริเวณหน่วยโคกนกกระบาแห่งนี้ ส่วนใครไม่เคยเห็นนกตบยุงก็เจ้าตัวนี้เลย พอดีเคยไปส่องสัตว์กลางคืนที่ช่องเย็นแล้วถ่ายได้มา กำลังกกลูกอยู่พอดี น่ารักมากๆ


สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่ภูหลวง จะประกอบด้วยเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลักๆอยู่ 2เส้นด้วยกัน คือ

1. เส้นลานสุริยัน เป็นลานหินผุด เต็มไปด้วยหินรูปทรงแปลกๆ ซึ่งหินนกกระบาก็อยู่ในลานนี้

2. เส้นรอยเท้าไดโนเสาร์ เป็นรอบใหญ่ขาไปเดินประมาณ 4กม. เพื่อไปชมความงามของวิวระหว่างทาง พระอาทิตย์ขึ้นและดูรอยเท้าดึกดำบรรพ์

แต่จริงๆถึงแม้ไม่ต้องเดินไปไหนแค่มาถึงที่ หน่วยโคกนกกระบา ความอลังการก็บานสะพรั่งรอเราจนรู้สึกว่าคุ้มจนไม่ต้องไปเดินที่ไหนแล้ว เริ่มจากนี่เลย "กุหลาบพันปี" เจ้าหน้าที่บอกว่าช่วงกุมภา-มีนานี่แหละ กุหลาบแดงกำลังบานสวยที่สุด


ส่วน "กุหลาบขาว" ก็เริ่มบานแล้วเช่นกัน แต่น่าจะบานเต็มที่ทั่วภูราวๆช่วงเมษายน ใครมีโอกาสก็ไปดูกันให้ได้นะ


จากนั้นก็ต่อด้วยเจ้านี่เลย เดินไปที่ไหนก็เห็นตลอดเส้นทางการเดินศึกษาธรรมชาติ "เอื้องตาเหิน"



อันนี้ก็เห็นบ่อย "เอื้องสำเภางาม"


ดอกเล็กๆคล้ายลูกโบลลิ่ง "ประทัดแดง"


"หนวดพราหมณ์ภู" ผมชอบดอกนี้ที่สุด มันดูพริ้วไหว และขาวบริสุทธิ์

รอบนี้ขออนุญาติเน้นรูปดอกไม้นะครับ เพราะทีเด็ดของที่นี่คือดอกไม้จริงๆ แต่ถ้าถามว่ามีจุดดูพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกไหม ต้องตอบว่ามีครับ โดยพระอาทิตย์ตกจะดูได้ที่ผากุหลาบแดงกุหลาบขาว ห่างจากที่ทำการประมาณ 200เมตร เดินไม่ทันจะเหนื่อยก็ถึงแล้ว ลูกเด็กเล็กแดงเดินสบายมาก

ส่วนพระอาทิตย์ขึ้นจะดูที่ผาช้างผ่าน ต้องเริ่มเดินราวๆตีห้าครึ่ง ไปประมาณ 1กิโลเมตร โดยมีเจ้าหน้าที่นำทางพาไป เนื่องจากกลัวช้างป่ามาทำอันตรายนักท่องเที่ยว แต่ทว่าคราวนี้ที่ไป ท้องฟ้าไม่เป็นใจเอาซะเลยทั้งอาทิตย์ขึ้นและอาทิตย์ตก ก็เลยไม่มีรูปสวยๆมาฝากกัน งั้นเอาบรรยากาศคนที่มานั่งรอดู กับวิวหลอนๆของต้นไม้ไปชมแทนนะครับ ผมว่ามันดูเหมือนพวกเด็กดองในหลอดแก้วมากๆ มืดๆนีคงจินตนาการได้หลอนสุดๆ


เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากผิดหวังจากการชมพระอาทิตย์ขึ้น เพราะฟ้าขมุกขมัวมากถึงมากที่สุด เต็มไปด้วยหมอกจางๆ จะสวยก็ไม่สวย ก็เลยเดินกลับมาด้วยความผิดหวังเล็กๆ แต่พอถึงหน่วยเท่านั้นแหละ ไก่ฟ้าหลังขาว ก็ออกมาเดินเผ่นผ่านเหมือนมารอต้อนรับเต็มไปหมด ตามหลักนี่พูดได้เลยว่าไม่ได้พบเห็นกันง่ายๆขนาดนี้ แต่คงเป็นเพราะธรรมชาติที่ยังสดอยู่ และมันก็คงเห็นคนบ่อยๆจนรู้ว่าพวกเราไม่เป็นอันตราย จึงออกมาหากินตามธรรมชาติกันอย่างสบายใจ แต่ก็ไม่ได้เข้าใกล้กันง่ายๆนะ สัตว์ป่ายังไงก็เป็นสัตว์ป่าอยู่วันยังค่ำ แค่ได้เห็นก็เป็นบุญตาแล้ว


เช้าวันนี้เราเลือกที่จะมุ่งหน้าไปยังเส้นรอยเท้าไดโนเสาร์เป็นอันดับแรก โดยเส้นทางจะผ่านจุดสำคัญหลายๆจุด ดังนี้

เริ่มจาก ผาช้างผ่าน - ผาสมเด็จ - ผาเตลิ่น - รอยเท้าไดโนเสาร์ รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยปกติแล้วจำเป็นต้องติดต่อให้เจ้าหน้าที่นำทาง แต่พอดีมีคณะท่องเที่ยวไปหลายกลุ่ม เจ้าหน้าที่จึงบอกให้เดินๆตามกันไป ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ทุกกลุ่มก็ได้ ว่าแล้วก็เริ่มออกเดินทาง

จุดแรก ผาช้างผ่าน ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นหน้าผาสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ส่วนที่ชื่อผาช้างผ่าน ก็เพราะระหว่างเส้นทางไปผานี้ จะมีร่องรอยทางเดินของช้างให้เห็นเป็นระยะ พร้อมกับกองขี้ตามรายทาง แบบกลิ่นมาดามหอมชื่นใจ สดๆกันเลย ตรงจุดนี้ก็พบ "สร้อยระย้า" บานห้อยลงมาดูสวยงาม


ระหว่างทางเดินไปยังผาสมเด็จ "ดอกส้มแปะ" เห็นบ่อยๆ เรียงกันเป็นแถวเหมือนโคมไฟระย้า


จุดที่สอง ผาสมเด็จ เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นผาเตลิ่น และหนองงูเหลือม ซึ่งเราจะเห็นเป็นชั้นๆ คล้ายๆขั้นบันไดยื่นออกมาตัดกับท้องฟ้าดูสวยงาม รอบนี้ถึงฟ้าไม่สวย แต่ธรรมชาติก็ยังดูน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ดี ว่าอะไรที่มันทำให้มันภูเขาลูกใหญ่ๆกลายมาเป็นขั้นบันไดได้แบบนี้


จุดที่สาม ผาเตลิ่น เป็นแนวโขดหินริมผา ยาวราวๆ 3กิโลกเมตร มีดอกไม้และต้นหญ้าขึ้นแซมตามโขดหินมากมาย ความจริงแล้วกล้วยไม้ดินเต็มโขดหินไปหมดแต่รอบที่ไปมันยังไม่บาน ก็เลยได้แต่เดินดูวิวไปเรื่อยๆ ซึ่งคนมาเที่ยวส่วนใหญ่ก็มักจะชอบมานั่งห้อยขาถ่ายรูปให้ดูเสียวๆกันเล่น แบบตกไปได้ตายชัวร์!!!


ผมว่าที่ ผาเตลื่น จัดเป็น Highlight ทางด้านวิวของภูหลวงเลยทีเดียว มีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปเพียบ ว่ากันว่าช่วงเดือนเมษา กุหลาบขาวจะบาน บริเวณผาเตลิ่น น่าจะยิ่งเพิ่มความสวยเข้าไปอีกเป็นทวีคูณ ระหว่างเดินกลับก็เห็นอีกคณะเดินสวนมาตัวเล็กๆ คิดในใจ นี่เราก็เดินมาไกลเหมือนกันนะเนี่ย



และจุดสุดท้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ จริงๆแล้วมีหลายรอยมากๆ แต่รอยที่ชัดสุดๆ มีรอยเดียวคือรอยนี้เลย ว่ากันว่าเป็นรอยเมื่อ 100-140 ล้านปีที่แล้ว ของไดโนเสาร์จำพวกคาร์โนซอร์ ที่กินเนื้อเป็นอาหาร

พอดีพบเจ้าของรอยเท้าก็เลยถ่ายติดมาด้วย

"รอยเท้าผมเองครับ!!!"

"ใช่เหรอ?"


จุดรอยเท้าไดโนเสาร์ถือว่าเป็นจุดสุดท้ายของการเดินเส้นศึกษาธรรมชาติเส้นนี้ ส่วนทางเลือกในการกลับมีอยู่ 2ทาง คือเดินตัดป่าเข้าไปประมาณ 1กิโลแล้วนั่งรถเจ้าหน้าที่กลับ กับอีกแบบนึงก็คือเดินย้อนกลับทางเดิม 4กิโล พอดีเกิดอยากออกกำลังกายประกอบกับไม่อยากรอคณะอื่นๆ ก็เลยตัดสินใจเดินกลับทางเดิมดีกว่า ชมวิวซ้ำอีกซักทีมันก็ไม่ได้สวยลดลงแม้แต่น้อย รวมระยะเวลาการเดินประมาณ 3ชั่วโมงครึ่ง

ช่วงบ่ายก็มาเริ่มกันต่อกับ เส้นรอบเล็ก ลานสุริยัน สำหรับจุดนี้คนที่ไม่เคยเดิน ก็ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง เพราะเคยมีคนหลงมาแล้ว เนื่องจากมีทางตัดออกนอกเส้นทางเดินหลักอยู่หลายเส้นพอสมควรต้องสังเกตุเส้นทางดีๆ แต่พอดีพี่ที่มาด้วยเคยเดินและพอจะชำนาญเส้นทางอยู่ ก็เลยสามารถเดินเองได้ ย้ำนะครับถ้าไม่มั่นใจติดต่อเจ้าหน้าที่ดีกว่า

เริ่มจากทางเข้าก็สวยแล้วครับ กุหลาบแดงเจ้าเก่าบานสะพรั่งไปทั่ว


ป้ายสถานี บอกจุดสำคัญแต่ละจุด ซึ่งจะมีป้ายคำอธิบายบอกระหว่างทาง



มาเริ่มคอเลคชั่นดอกไม้กันต่อ "สิงโตสยาม"

อันนี้ไม่ใจว่า "เอื้องเทียนน้อย" หรือ "เอื้องน้ำเต้าฤาษี" รบกวนผู้รู้บอกด้วยนะครับ อันไหนผิดพลาดก็สามารถบอกได้เช่นกัน เพราะผมก็ศึกษาหาอ่านจากหนังสือกับอินเตอร์เนตเอาเอง ไม่ใช่ผู้เชียวชาญอะไร


"ก๊กหม่อง หรือสะเม็ก"



"รองเท้านารีอินทนนท์" ทีเด็ดของที่นี่เช่นกัน แต่โชคร้ายที่ไม่ได้เจอรองเท้านารีปีกแมลงปอ

ภาพมุมบน บริเวณลานสุริยัน สามารถมานั่งพักผ่อนคุยกัน เก็บแรงไว้สำหรับเดินย้อนกลับ ภาพนี้บอกเลยผมไม่ได้แต่งสีใบไม้นะครับ ต้นไม้มันเปลี่ยนสีของมันเอง สวยอย่างในภาพนี้เลย ไม่เชื่อต้องลองไปดูช่วงหน้าร้อน


ที่เหลือก็จะเป็นดอกอื่นๆที่ไม่ทราบชื่อ และความสวยงามระหว่างทางที่เก็บมาฝากกัน

หลังจากเดินลานชมสุริยันจนครบรอบ พวกเราก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปพักผ่อนกางเต้นท์กันที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและเดินทางกลับเข้ากรุงเทพในบ่ายวันถัดมา

สุดท้ายนี้ขอฝากถึงเพื่อนๆที่อยากไปที่ภูหลวงนะครับ ที่นี่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดังนั้นก็อาจมีกฏระเบียบที่เพิ่มเติมเข้ามามากกว่าปกตินิดหน่อย แต่ก็อยากให้ทุกคนเชื่อฟังและปฏิบัติตามกันนะครับ สาเหตุที่ทำให้ที่นีสวยงามมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็เป็นเพราะกฏระเบียบเหล่านี้ ป้ายเตือนต่างๆ ที่ไม่ให้เราปีนโขดหินบ้าง ไม่ให้ออกนอกเส้นทางบ้าง อาจดูยุ่งยาก จะอะไรนักหนา แต่มันก็ทำให้เราไม่เผลอเดินไปเหยียบพรรณไม้เล็กๆที่สวยงาม ได้ให้โอกาสมันได้เติบโตขึ้นมาเบ่งบานให้เราชมทุกวันนี้ และเหลือไว้ให้คนอื่นๆได้มาชมต่อจากเราตลอดไป

ขอบคุณที่ติดตามกันมาถึงบรรทัดนี้ ถ้ามีที่ท่องเที่ยวธรรมชาติสวยๆดีๆที่ไหนอีก ผมจะเก็บเรื่องราวมาเล่าให้เพื่อนๆฟังเช่นเคยนะครับ ไว้พบกันใหม่ทริปต่อไป "เมื่อหัวใจสะพายเป้ การเดินทางจึงเกิดขึ้น"

ความคิดเห็น