..ทริปนี้เราวางแผนกันตั้งแต่ปลายปี 60. ว่าจะไปเยือนลาวเหนือกันในช่วงเดือน พ.ยปี 61.แต่กว่าจะถึงความอยากอาจจะลดลงเลยแก้ขัดไปสัมผัสกลิ่นอายของลาวใต้เมื่อตอนกลางปีกันก่อนตามกระทู้นี้ ยกก๊วนชวนเที่ยว ปากเซ-จำปาสัก มนต์เสน่ห์แห่งลาวใต้
และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง 15 พ.ย 61 ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง ด้วยสายการบินหางแดงเจ้าเก่าจะมีวันล่ะไฟร์ทตอน 13:55 ตอนนั้นจองไป-กลับอยู่ที่ 3,610 บาท ราคาแอบแพงอยู่ แพงตอนไฟร์ทกลับนี่แหละ นั่งชมวิวริมหน้าต่างได้ไม่นาน เมื่อเข้าเขตท้องฟ้าเมืองหลวงพระบางต้องรีบกด shutter รัวๆ วิวมุมสูงเมืองหลวงพระบางมีเสน่ห์ไม่ใช้น้อย เราถึงหลวงพระบางเวลา 15:20 ใช้เวลาเดินทางแค่ ชั่วโมงครึ่ง หลังจากลงเครื่องผ่านพิธีการของตม.แล้วหาแลกเงินเปลี่ยนซิมโทรศัพท์ก็ในสนามบินนั้นเลย package net 4 G 3-4 วัน 100 บาท ค่าเงินอยู่ที่ 1 บาท = 266.51 kp แล้วหารถเข้าหนองเขียวเมืองงอยเพื่อทำภารกิจแรกกันก่อน ก่อนหน้านั้นผมได้ติดต่อที่พักให้ส่งรถตู้มารับซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดกับคณะของเรา 9 คนราคาเหมาไปกลับหลวงพระบาง-เมืองงอย ตกคนล่ะ 166,000 kp แปลงเป็นเงินไทยแล้วตกคนล่ะประมาณ 620 บาท ใช้เวลาเดินทางราวๆ 4 ชม.กับระยะทางแค่ 140 km.จากหลวงพระบางนั่นก็เพราะสภาพถนนหนทางกับการจำกัดความเร็วทำให้ทำเวลาไม่ได้ แถมยางรั่วกลางทางอีกทำให้ไปถึงเมืองหนองเขียวก็ราวๆ 2 ทุ่มกว่า
เราเข้าพักกันที่น้ำอูริเวอร์ลอดจ์ในราคาคาคืนละ 600 กว่าบาท โรงแรมเล็กๆริมน้ำอูที่ในโลกโซเชียลลงภาพไว้ว่ามีวิวทิวทัศน์ที่มีความสวยงามกว่าโรงแรมอื่นในย่านนั้น โดยหารู้ไม่ว่าโรงแรมนี้ค่อนข้างไกลจากแหล่งของกินพอสมควร เรามาถึงก็มืดมองไม่เห็นอะไรแล้ว หลังจากเช็คอินสำรวจห้องสักครู่นึงว่ามีอะไรบ้าง เป็นห้องที่ถือว่ากว้างพอสมควรแต่สิ่งอำนวยความสะดวกไม่มีอะไรมาก มีแค่ตู้เตียงโต๊ะเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำดื่ม 2 ขวดเล็กเท่านั้น ห้องน้ำไม่มีสายชำระให้น่ะครับ เสร็จแล้วเดินหาร้านรวงฝั่งที่พักของเราไม่มีเลยต้องเดินข้ามสะพานไปอีกฝั่งซึ่งมีเปิดอยู่ไม่กี่ร้านและขอบอกว่าเดินไปกลับก็เกือบ 2 กิโลแล้ว แต่ถือว่าเป็นการเดินเล่นยามค่ำคืนที่อากาศไม่ร้อนแต่ก็ไม่หนาว เราเลือกร้านอาหาร วองมานี่เกสต์เฮาส์ ซึ่งเป็นทั้งร้านอาหารและ guesthouse ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของสะพาน
เช้าวันรุ่งขึ้นเรานัดแนะกันขึ้นจุดชมวิวผาแดงตอน ตี 5 เดินจากที่พักผ่านร้านอาหารที่เรากินกันเมื่อคืนไปสัก 500 เมตรจะมีทางขึ้นจุดชมวิวอยู่ด้านซ้ายมือ ก่อนขึ้นเสียค่าผ่านทางคนล่ะ 20,000 กีบ ควรเตรียมอาหารน้ำดื่มไฟฉายให้พร้อมเพราะต้องใช้เวลาบนนั้นค่อนข้างนานทีเดียวและห้ามเดินออกนอกเส้นทางเด็ดขาดเพราะในสมัยสงครามอินโดจีน มีระเบิดที่อเมริกามาบอมทิ้งไว้บริเวณนี้มากมายที่ยังไม่ได้เก็บกู้ สภาพทางเดินค่อยๆไต่ระดับความสูงไปเรื่อยๆ ช่วงแรกๆพื้นดินยังแข็ง แต่พอเริ่มเข้าเขตที่มีต้นไม้ปกคลุมถือว่าลื่นและลื่นมากๆเนื่องจากเมื่อตอนหัวค่ำมีฝนตกมา พวกเราเดินกันเป็นกลุ่มแรกพื้นดินยังไม่เละเกินไปแต่ตอนขาลงนี่สุดๆยังดีที่ชาวบ้านนำไม้ไผ่มาทำเป็นราวและเชือกไว้เหนี่ยวรั้งช่วงไหนที่ชันมากๆ หากมาหน้าฝนควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ป้ายบอกใช้เวลาเดินขึ้นประมาณ 1:30 ชม,ขาลงประมาณ 45 นาทีแต่ความเป็นจริงไม่เป็นแบบนั้น.. และแล้วก็ถึงจุดชมวิวผาแดงตอนประมาณ 7:15 สภาพด้านบนไม่ได้กว้างมากนักมีเพิงพักเก่าๆที่ชาวบ้านสร้างไว้สำหรับนั่งหลบฝนหลบแดดสำหรับนักท่องเที่ยว แต่สิ่งที่น่าเจ็บใจวันนั้นคือสภาพฟ้าปิดหมอกปกคลุมขาวโพลนไปทั่วบริเวณ จนผมแทบไม่อยากหยิบกล้องขึ้นมาถ่าย วิวสวยๆที่ในโลกโซเชียลแชร์กันมาเป็นอันต้องฝันสลาย ถึงแม้จะนั่งรอกันเป็นชั่วโมงก็ยังไม่มีทีท่าว่าฟ้าจะเปิด
แต่ถึงจะมองอะไรไม่เห็นแต่ขอไปยืนจรงจุดที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่กันสักหน่อยลักษณะทำเป็นแท่นไว้ให้ขึ้นไปยืนถ่ายภาพ พวกเราผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปถ่ายภาพบนนั้น และนั่งคอยกันอยู่นานว่าหมอกจะจางลงเมื่อไหร่ แต่ดูท่าทีแล้วไม่มีวี่แววว่าจะจางลง ประกอบกับไม่ได้เตรียมอาหารกันขึ้นมา คิดว่าน่าจะมีหมูปิ้งข้าวเหนียวร้อนๆขายในหมู่บ้านตอนเช้าๆบ้างแต่ลืมไปว่าไม่ใช่บ้านเรา..
เก็บข้าวของเดินลงหิวใส้แทบขาด แต่ระหว่างทางมีมุมสวยโผล่พ้นยอดไม้มาให้เจ็บใจเล่นๆ ซึ่งตอนนั้นฟ้าเริ่มเปิดแล้วมองเห็นเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองหนองเขียวได้เต็มตา และก็เป็นภาพเดียวมุมเดียวที่ทุกคนได้จากทริปนี้ และกว่าจะถึงพื้นล่างกันได้ล้มลุกคลุกคลานกันเป็นแถวเพราะสภาพดินที่มันเลยไปแล้วหลังจากที่มีนักท่องเที่ยวเดินขึ้นลงสวนทางกันมา ในที่สุดก็ถึงพื้นด้านล่าง แวะพักเหนื่อยล้างเนื้อล้างตัวที่ร้านค้าตรงทางขึ้น จะมีลูกระเบิดลูกใหญ่วางไว้เป็นสัญลักษณ์
ระหว่างทางเดินกลับที่พักเราข้ามสะพานหนองเขียว นับตั้งแต่เรามาถึงกันเมื่อคืนและเดินข้ามสะพานไปมาอยู่ 2 รอบ เพิ่งจะเห็นวิวสะพานตอนใกล้เที่ยงนี่แหละ วิวตรงนี้มีความงดงามดีทีเดียว มองดูรอบๆแล้วลักษณะเมืองนี้จะมีภูเขาล้อมรอบและมีสายน้ำอูตัดผ่านกลางเมือง มีท่าเทียบเรือสำหรับโดยสารขึ้นไปถึงยังเมืองงอย เมืองขวา แขวงพงสาลีได้ หากแต่จะล่องลงไปหลวงพระบางตอนนี้ก็จะติดการก่อสร้างเขื่อน กลางทาง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ตลอดลำน้ำแห่งนี้ต่อไปจะมีการเร่งสร้างเขื่อนขวางลำน้ำถึง 7 แห่งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับประเทศที่มาร่วมลงทุนนั่นก็คือประเทศไทยและจีน และก็ประเทศอื่นๆแถบนี้ที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าตามแนวคิด "โครงการแบตเตอรี่แห่งเอเชีย"ซึ่งมันส่งผลทำให้วิถีชีวิตผู้คนและธรรมชาติแถบนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในไม่ช้านี้..
กว่าจะลงจากจุดชมวิวผาแดงได้ครบทุกคนเล่นเอาเกือบเที่ยงแล้ว แวะกินเฝอชามโตเจ้าอร่อยของหมู่บ้าน ร้านนี้ไม่มีชื่อร้านตั้งอยู่ตรงหัวสะพานข้ามไปจุดชมวิวผาแดง ถามชาวบ้านดูได้มีอยู่ร้านเดียวที่ชาวบ้านกินกันเยอะ หลังจากรีบกินรีบจ้ำกลับที่พัก ก็เลยเวลา check out ไปชั่วโมงกว่าเสียค่าปรับไปเบาๆแสนกีบ อาบน้ำอาบท่ารอคนครบ เดินชมวิวบริเวณที่พักสักหน่อยที่เขาบอกว่าสวยนักหนา วิวเบื้องหน้าที่มองออกไปเป็นแนวภูเขาขนานไปกับลำน้ำถือว่าสวยทีเดียวถ้าเราอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมช่วงเช้าหรือเย็น แต่เราไม่มีโอกาสได้เห็น
รถตู้มาจอดรอพวกเราอยู่หน้าโรงเรียนตั้งแต่ 10 โมงแล้วกว่าจะได้ออกก็บ่ายโมง ก่อนออกเดินทางเข้าหลวงพระบาง เงยหน้าขึ้นไปมองยอดผาแดง ก่อนที่จะหันกลับมาเห็นยอดเขาอีกลูกในบริเวณหมู่บ้าน มีเพิงพักเหมือนผาแดง ซูมกล้องเข้าไปดูเห็นมีคนนั่งอยู่บนนั้นด้วย ถามคนขับรถตู้เขาบอกว่าขึ้นได้ทางขึ้นอยู่ใกล้ๆหน้าโรงเรียนนี่เอง นี่สิน่ะที่เคยเห็นในรีวิวที่บอกว่ามีอีกยอดนึงในหมู่บ้านซึ่งยังไม่เคยเห็นภาพวิวมุมสูงจากฝั่งนี้เลย คิดในใจว่าต้องมาแก้มือและให้เวลากับที่นี่มากกว่าครั้งนี้ให้ได้
เราใช้เวลาเดินทางกลับหลวงพระบางประมาณ 3 ชม.ทุกคนในรถหลับกันเป็นตายหลังจากเพลียจากการขึ้นยอดผาแดงแต่เช้าตรู่ ราวๆ 4 โมงครึ่งก็มาถึงเมืองหลวงพระบาง เพื่อนที่นั่งเครื่องตามหลังมาวันนี้อีก 2 คนไลน์มาบอกว่าถึงสนามบินแล้วนัดแนะกันว่าเก็บของเข้าที่พักเสร็จแล้วมาเจอกัน ส่วนพวกเรา 9 คนพักกันอยู่ที่สักรินทร์เกสต์เฮ้าส์ ทีพักราคาถูกคุณภาพก็สมราคา หารกันแล้วตกคนล่ะ 200 กว่าบาทต่อคืน ตั้งอยู่บนถ.สักรินทร์ที่เป็นใจกลางแหล่งท่องเที่ยวของหลวงพระบาง ซึ่งจริงๆแล้วเมืองหลวงพระบางไม่ได้กว้างมากนักเที่ยวชมเมืองวันเดียวก็ทั่วถึงแล้ว หลักๆก็จะเป็นเช้ามาเดินเล่นตลาดเช้าใส่บาตรข้าวเหนียวเที่ยววัดชมเมืองมรดกโลก ตึกรามบ้านช่องจะเป็นสไตล์เฟรนช์โคโลเนียลหลังคามีจั่วแบบบ้านลาว หรือจะนั่งชิลตามร้านกาแฟตกเย็นก็ขึ้นพระธาตุพูสีลงมาเดินเล่นตลาดมืด ส่วนวิธีการเดินทางท่องเที่ยวชมเมืองจะด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานก็ได้ระยะทางไม่ไกลกันมาก แต่ถ้าทั้งวันแนะนำหาร้านเช่าจักรยานดีกว่า
ออกจากที่พักมาเดินไปทางวัดเชียงทอง survey หาร้านอาหารไปเรื่อยๆ ดูราคาอาหารแต่ล่ะร้านที่อยู่ริมถนนสักรินทร์แพงใช่ย่อย 25,000-35,000 กีบขึ้นไปทั้งนั้น เลยเดินย้อนกลับมาเข้าซอยเล็กๆใกล้ที่พักว่าจะลัดลงไปริมโขงไปเจอร้านอาหารอยู่ร้านนึงบรรยากาศดีราคากลางๆไม่แพงมากชื่อร้าน "ปากห้วยมีไซย" เป็นอาหารพื้นบ้านของหลวงพระบาง เลยลองสั่งเมนูยอดนิยมมากิน อย่างแรกเลยต้อง ตำหลวงพระบาง,สลัดลาว,ไส้กรอกอีสาน,และที่พลาดไม่ไดคือไคแผ่นทอดร้อนๆเสริฟคู่กับแจ่วบอง "ไค"ก็คือสาหร่ายน้ำจืดนั่นเอง ไคหลวงพระบางแท้ๆจะมาจากน้ำโขงและขึ้นในแหล่งน้ำสะอาดและไหลอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านมักนำมาทอดและทานเล่นคู่กับแจ่วบอง แจ่วบองที่นี้จะไม่เหมือนบ้านเราบ้านเราจะใส่ปลาร้า แต่ที่นี่จะใส่กะปิแทน สรุปโดยรวมร้านนี้อร่อยถูกปากพวกเรามาก
เช้าวันที่ 2 นัดแนะกันว่าให้เวลาส่วนตัวแยกย้ายกันไปเดินเล่นหาอะไรกินกันก่อนที่จะมาเจอกันที่ร้านกาแฟริมโขง ชื่อร้าน Saffron Coffee ผมตื่นแต่เช้าตรู่มาดูสถานที่ตักบาตรข้าวเหนียวกันซึ่งก็ไม่ได้ไกลจากที่พักเลยเดินไปไม่ถึง 20 ก้าว แต่เช้านั้นเรายังไม่ใส่บาตร เดินเล่นหาอะไรกินก่อนโดยออกจากที่พักไปทางขวาตรงไปยังวัดพระธาตุพูสีซึ่งบริเวณนั้นจะมีตลาดเช้าอยู่ในซอยข้างๆวัดใหม่สุวรรณพูมาราม
วิถีชีวิตผู้คนก็ไม่แตกต่างจากต่างจังหวัดบ้านเรามากนักที่เวลาเช้าออกมาเดินจ่ายตลาด จะมีก็แค่ในเรื่องวัตถุดิบในการทำอาหารซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ถือว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาได้เห็นอะไรแปลกๆ
เดินทะลุตลาดมาถึงริมฝั่งโขงมาเจอร้านชื่อดังตั้งอยู่หัวถนนด้านซ้ายมือชื่อร้าน "ประชานิยม"มาสายๆหน่อยคนจะเยอะมีทัวร์ลง ที่นั่งในร้านมีไม่พอสามารถไปนั่งกินริมโขงมีโต๊ะเก้าอี้นั่งเหมือนงานบุญ เมนูโจ๊กหรือข้าวต้มจะมีให้เลือกว่าจะใส่ไข่ลวกหรือไข่พะโล้ แปลกดีเหมือนกัน รสชาติถือว่าใช้ได้ แต่กาแฟไม่ผ่านอย่างแรงรสชาติแปลกๆไม่น่าจะถูกปากคนไทยเท่าไหร่ ส่วนร้านด้านซ้ายมือข้างๆมีเฝอกับข้าวเปียกเส้นขายรสชาติก็ใช้ได้เหมือนกัน ส่วนด้านขวามือจะเป็นร้านขนมบาแก๊ต และพวกหมูปิ้งไก่ปิ้งอร่อยดี ข้าวเช้าผมมาฝากท้องที่นี่อยู่ 2 วัน
รองท้องด้วยโจ๊กร้อนๆแล้ว เดินเล่นชิลๆลัดเลาะชมวิวริมโขงดูบ้านเมืองของเขาไปเรื่อย หลวงพระบางเป็นเมืองเล็กๆที่เงียบสงบเหมาะสำหรับการใช้ชีวิตแบบ slow life จริงๆหากคุณรีบเร่งก็จะพลาดอะไรหลายๆไปอย่างน่าเสียดาย
ร้านกาแฟ Saffron Coffee คือจุดหมายที่พวกเรานัดมาเจอกันเช้านี้ ร้านนี้จะมีที่นั่งอยู่ 2 โซนคือโซนภายในร้านกับโซนริมโขง พวกเราเลือกนั่งจิบกาแฟชมวิวริมโขง นอกจากกาแฟรสชาติดีแล้วยังมีเมนูของว่าง อาหารเช้าไว้บริการอีกด้วย
วันนี้พวกเราได้เหมารถพาไปเที่ยวน้ำตก 2 แห่งคือตาดกวางสี และตาดแส้ ออกเดินทางกันประมาณ 9 โมงเช้าไปถึงตาดกวางสีราวๆ 10 โมง เสียค่าเข้าตัวน้ำตกคนล่ะ 20,000 กีบ ก่อนเข้าเราสามารถสั่งอาหารเข้าไปทานได้จากร้านที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าทางเข้า เขาจะนำไปส่งให้เองเพียงแต่นัดแนะกันว่ารออยู่ที่ชั้นไหน ตัวน้ำตกมีทั้งหมด 3 ชั้นหากเดินไปตามถนนสำหรับรถวิ่งแล้วจะตรงไปยังจุดไฮไลท์ของตัวน้ำตกที่ชั้น 3 เลย ตรงบริเวณชั้น 3 จะห้ามเล่นน้ำ ถ้าจะเล่นเล่นได้ที่ชั้น 1-2
ใช้เวลากันเล่นน้ำพักผ่อนอยู่ที่นี่กันเกือบ 3 ชั่วโมงก็ออกเดินทางไปตาดแส้กันต่อ ตาดแส้อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางใต้ประมาณ 15 กิโล เรามาถึงบ้านแอนราวๆบ่ายโมงครึ่งแล้วนั่งเรือต่อไปอีกราวๆ 10 นาทีค่าเรือไปกลับ 10,000 กีบและค่าเข้าอีก 15,000 กีบ
มีคาเฟ่ทำเลดีตั้งอยู่กลางน้ำตก เราเลือกนั่งจิบกาแฟเล่นน้ำกันบริเวณนี้ ถัดขึ้นไปด้านบนจะมีอีกชั้นนึงที่เป็นเหมือนสระว่ายน้ำขนาดใหญ่
ในบริเวณน้ำตกจะมีกิจกรรมให้ทำคือ zipline กับขี่ข้างชมวิวทิวทัศน์หรือจะเล่นน้ำกับช้างค่าขี่ช้างอาบน้ำตกคนล่ะ 110,000 ใช้เวลา 20 นาที ค่าตัวแพงเอาเรื่องเหมือนกัน
ตอนเย็นหลังกลับจากตาดแส้นัดกันขึ้นพระธาตุพูสี ซึ่งห่างจากที่พักประมาณ 200 เมตร เราเลือกขึ้นด้านหลังเก็บภาพฝูงชนจำนวนมากกับวิวดวงอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดของเมืองหลวงพระบาง แล้วค่อยไปลงด้านหน้า ใครขึ้นด้านหน้าก่อนดวงอาทิตย์ตกเดินมาถ่ายรูปด้านหลังก่อนจะเห็นแสงสีทองฉาบไปทั่วเมืองมีความสวยงามมาก
ลงจากพระธาตุพูสีก็เดินเข้าตลาดมืดซึ่งตั้งอยู่บนถ.ศรีสว่างวงค์ ด้านหน้าทางขึ้นพระธาตุนั่นเองซึ่งตอนเย็นจะปิดถ.ตั้งแต่วัดใหม่สุวรรณพูมารามไปจนถึงพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเอาของมาขาย ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกสินค้าพื้นเมือง ผ้าทอแฮนด์เมด ของฝากของที่ระลึก แล้วมาตบท้ายค่ำคืนนี้ด้วยเค็กมะพร้าวอ่อนอันเลื่องชื่อที่ร้านกาแฟโจมา
เช้าวันสุดท้ายของทริปหลวงพระบางก่อนที่จะกลับเมืองไทยในช่วงบ่าย เริ่มต้นด้วยการตักบาตรข้าวเหนียวบนถ.หน้าที่พักที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและบรรดาช่างภาพมารอเก็บภาพบรรยากาศการใส่บาตรข้าวเหนียวกันอย่างหนาแน่น ราคาชุดใส่บาตรชุดล่ะชุดล่ะ 10,000 กีบมีแต่ข้าวเหนียวอย่างเดียว
ใส่บาตรเสร็จเดินเล่นยามเช้าหาอะไรรองท้องง่ายๆแถวตลาดเช้าที่เดิมคือร้านประชานิยม ระหว่างทางสิ่งปลูกสร้างต่างๆน่าถ่ายรูปไปเสียทุกที่ เขาพยายามรักษาบ้านเมืองให้คงรูปแบบเดิมใว้ให้มากที่สุด ชาวบ้านก็ยิ้มแย้มแจ่มใสพร้อมให้ถ่ายรูปด้วยเสมอ
ยังมีเวลาเหลือราวๆ 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะไป check in ที่สนามบิน เราฝากกระเป๋าไว้ที่ที่พักหลังจาก check out เสร็จเรียบร้อย แล้วไปหาเช่าจักรยานปั่นชมเมืองกันค่าเช่าคันล่ะ 20,000 กีบ จุดหมายแรกชมความงามสถาปัตยกรรมของวัดลาวกัน วัดแรกที่ไปคือวัดเชียงทอง
กว่าจะออกจากวัดเชียงทองได้ก็เกือบชั่วโมง และต้องคอยปั่นตามกันเป็นลุกเป็ดตามแม่เป็ดคอยกันไปคอยกันมาเวลาก็เหลือน้อยแล้ว เลยพับแผนเที่ยวชมวัดไปนั่งนอนเล่นชิลๆที่ร้าน Utopia ริมฝั่งน้ำคาน ตัวร้านตั้งอยู่ลึกลับหน่อย จะอยู่ทางด้านหลังของพระธาตุพูสี เข้าซอยเล็กๆเลี้ยวไปมาลอง search ใน googlemap ง่ายกว่า ร้านนี้บรรยากาศเป็นแบบเปิดโล่ง ด้านนอกจะเป็นเรือนชานยื่นออกไป มีที่นอนลูกระนาดกับหมอนสามเหลี่ยมไว้นอนเอกเขนกอ่านหนังสือจิบกาแฟชมวิวกันแบบสบายๆยามแดดร่มลมตก ด้านในร้านก็เหมือนกัน ตัวร้านเอาลูกระเบิดขนาดใหญ่หลายลูกที่หลงเหลือจากสงครามมาเป็นพร็อพประดับตกแต่งร้าน ดูเกร๋ไก๋ไม่น้อย
ตบท้ายก่อนคืนรถจักรยานด้วยส้มตำเจ้าดังชื่อร้าน ส้มตำป้าติ๋ม อยู่หลังวัดสีคูณเมือง ร้านนี้จัดว่าเด็ด แต่ราคาก็เด็ดไม่ใช่เล่น ช่วงพีคๆนี่ต้องรอคิวกันทีเดียว เพราะภายในร้านก็นั่งได้ไม่กี่โต๊ะ ต้องต่อโต๊ะมาริมถนนด้านนอก ซึ่งตอนกลางวันแดดมันลงต้องคอยเขยิบเก้าอี้หลบแดดกันเอาเอง นั่งกินไปเหงื่อแตกพลักกันเลยทีเดียว เมนูเด็ดนอกจากส้มตำ ก็ปลาทอดแม่น้ำโขง และไคแผ่นทอด
หลังจากคืนรถแล้วก็เก็บของทีฝากไว้ไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับ ทริปนี้จบแบบมีอะไรค้างคาหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เวลาที่อยู่ที่หนองเขียวที่ควรมีเวลาอย่างน้อยสัก 2 วัน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายจุดที่ไม่ได้ไปและจะได้ซึมซับบรรยากาศกันมากกว่านี้สักหน่อย หากมีเวลาน้อยควรจัดทริปเลือกเอาว่าจะไปหนองเขียวหรือหลวงพระบาง เพราะถ้าไปหนองเขียวสามารถล่องเรือไปเมืองงอยเก่า หรือไปต่อยังเมืองขวาแขวงพงสาลีด่านพรมแดนลาวเวียดนามได้บรรยากาศก็จะเป็นแนววิถีชีวิตชาวบ้านจริงๆ แต่ถ้าชอบความสะดวกสบายชมศิลปะวัฒนธรรมหรือแหล่งท่องเที่ยวที่คนนิยมกันก็ต้องหลวงพระบาง แต่ถ้ามีเวลาเหลือเฟือก็จัดไปเลยทั้งสองแห่ง ส่วนผมคงต้องหาโอกาสกลับมาแก้มือใหม่ในครั้งหน้าอีกที
สรุปค่าใช้จ่ายในทริปนี้
-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ
-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว
-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด
สตั๊ดดอย ร้อยเรื่องราว
วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 20.03 น.