Annapurna Base Camp (ABC) , Nepal

‘ภูเขาหิมาลัย’ อีกหนึ่งดินแดนสวรรค์ของนักเดินทาง เรามีโอกาสได้มาสัมผัสเนปาลครั้งแรก เลือกจะเริ่มต้นด้วยเส้นทาง Annapurna Sanctuary ไต่ระดับ ABC ที่ระดับความสูง 4130 เมตรก่อน เพื่อประเมินความสามารถของตัวเอง ต้นเดือนพฤษภาคมมีตั๋วเครื่องบินราคาถูก มีเพียงสภาพอากาศที่ต้องให้ลุ้นกันวันต่อวัน เพราะดันเป็นช่วงพายุเข้าพอดี เป็นประสบการณ์การเดินทางที่มีทุกบรรยากาศ ตั้งแต่ฟ้าใส ฟ้าปิด แดดจ้า หมอกหนา ไปยันพายุลูกเห็บ

Visa : แบบ Visa on arrival หรือ ขอจากสถานทูตเนปาลที่ไทยก่อนเดินทางก็ได้ค่ะ

ข้อมูลรายละเอียดขอวีซ่าสถานทูตเนปาล ที่นี่ http://www.nepalembassybangkok.com/visathai.php

Insurance : AIG Plan A (ปัจจุบันยกเลิกการคุ้มครองในประเทศเนปาลแล้ว)

แนะนำของบริษัท Chubb หรือบริษัท Thaivivat แทนค่ะ

Contact : Adventure Himalaya Circuit Treks and Tours (Facebook : Prakash Lamsal)

อุปกรณ์ :

•กระเป๋าเป้

Day pack ใส่ของจำเป็น กระติกน้ำ ขนม เสื้อกันฝน

Backpack เราใช้แยกเสื้อผ้า เก็บไว้ที่โรงแรม Kathmandu

Duffle bag ลองใช้ทริปนี้ครั้งแรก ใบใหญ่ช่องเดียวรวมทุกอย่างไว้ในนั้น

•เสื้อผ้า

เสื้อ Base layer Quick dry 2 ตัว

Fleece (Mid layer) 1 ตัว

Down Jacket เสื้อขนเป็ด 1 ตัว

Outer Leyer (waterproof & block wind) 1 ตัว

กางเกง Quick dry 2 ตัว

เสื้อกางเกงลองจอน (ใส่นอน) 1 ชุด

หมวกกันแดด 1 ใบ

หมวกอุ่น 2 ใบ

ผ้าบัฟ

ถุงมือ (waterproof & block wind) 2 คู่

ถุงเท้า (ใส่เดิน 4 คู่ ใส่นอน 1 คู่)

•แว่นกันแดด

•Trekking pole

• ไฟฉายคาดหัว

• Universal plug

•รองเท้าแตะ

•กระติกน้ำ

•Thermal patch (แผ่นแปะให้ความร้อน)

•Sleeping bag liners

•Sleeping bag อันนี้แบกไปด้วย แต่ไม่ได้ใช้ เน้นผ้าห่มสองผืนก็อุ่นแล้วค่ะ

•ปลั๊กสามตา อีกหนึ่งไอเทมที่อยากให้เอาไปด้วย

ช่วงเวลา : 30 เมษายน 61 ถึง 10 พฤษภาคม 61 (11 วัน)

เมื่อถึงสนามบินตรีภูวันที่เนปาล เรากรอกแบบฟอร์ม Arrival Information แล้วยื่นผ่าน ตม. พร้อมวีซ่าได้เลย

สำหรับผู้ที่ขอ Visa on arrival กรอก Visa Application ตรงตู้ซ้ายมือก่อน แล้วเข้าแถวยื่นเอกสารตรงเคาน์เตอร์ในรูปด้านล่างนะคะ

เย็นนี้เราพักที่โรงแรมย่านทาเมล และเช้าวันต่อมา นั่งเครื่องบินเล็กต่อไปยังเมือง Pokhara มีตั๋วบางครั้งก็ไม่ได้บิน ต้องมีโชคเรื่องฟ้าฝนเมฆหมอกด้วย จุดเล็กๆสามารถเปลี่ยนการนั่งเครื่องจาก 30 นาที เป็นนั่งรถบัส 7-8 ชม. ยังไม่รวมเวลารถติดในเมืองหลวง Kathmandu

โชคดีเช้าอากาศสดใส ได้บินไปกับ Yeti Airline เครื่องออกเกือบทุก 30 นาที ไปถึงสนามบินเร็ว เจ้าหน้าที่เลื่อนตั๋วให้บินไฟท์แรก (จาก 8.00 น. เลื่อนมาเป็น 7.45 น.) ถ้าอยากมองเห็นแนวเทือกเขาหิมาลัยทอดยาวเรียงตัวกัน แนะนำนั่งฝั่งขวา แถว C นะคะ

จากที่ตื่นเต้นอยู่แล้ว เจอวิวนอกหน้าต่างยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ สวยอลังการขนาดนี้ คนตัวเล็กจะเข้าไปได้ใกล้แค่ไหน จะได้พิสูจน์กัน

เมื่อถึงสนามบิน Pokhara ให้มองไปตรงประตูทางรถออก จะเห็นยอด Machapuchare หรือที่เรียกสั้นๆว่า Fish tail อยู่ไกลลิบ

เรานั่งรถต่อไปยัง Nayapul ใช้เวลา 2 ชม. อากาศแสนปลอดโปร่ง ใครจะแวะซื้อเสื้อผ้าที่นี่ได้ ราคาไม่แพงมาก

Trekking Route : Nayapul 1070 m >> Birethanti 1025 m >> Ulleri 2010

จากจุด Check point และจุด Trekkers' Information Management Systems (TIMS) ที่ Nayapul ทางเดินเริ่มต้น เป็นถนนดินลูกรัง อากาศแห้งร้อน ฝุ่นคลุ้งปะปนกับขี้ม้า ขี้ลา ขี้วัว ทำให้ต้องกลายเป็นคนสงบปากสงบคำไปโดยปริยาย

จากหมู่บ้านไปสู่อีกหมู่บ้าน วิวไร่สวน แม่น้ำลำธารใส บันไดจะชันมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงหมู่บ้าน Ulleri

ภาพล่าง คือวิวจากหน้าต่างห้องนอนเราเอง ในตอนค่ำไฟปิดสนิท เรานอนมองยอด Annapurna South Side สีขาวสว่าง กับกลุ่มไฟสีส้มเล็กๆตรงฐาน

Trekking Route : Ulleri 2010 m >> Nangge Thanti 2430 m >> Ghorepani 2860 m.

ฤดูกาลนี้ กลางวันยาว กลางคืนสั้น ตอนตีห้าแดดส่องยอดเขา กระทบมาหน้าต่างห้องนอนเราอีกที เมื่อคืนนอนเต็มอิ่ม หน้าตาเลยสดใสเหมือนอากาศในตอนเช้า การเดินวันนี้เรื่อยๆไม่หนักมาก ป่าไม้รอบตัวเริ่มเปลี่ยนพันธุ์ ลักษณะคล้ายป่าโบราณ

ถึงที่พักเกือบบ่ายสาม มีเวลาออกมาเดินเล่นรอบหมู่บ้าน Ghorepani มองดูบางคนผ่าฟืนเตรียมนำไปเผาในปล่องให้ความร้อน บางคนนั่งดายหญ้าเตรียมแปลงปลูกผัก บางคนนวดแป้งสำหรับทำโรตีในมื้อเช้า ธรรมดาตามวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

เย็นวันนี้เมฆหนา หมอกลงจัด อดที่จะไม่ลุ้นสภาพอากาศวันขึ้น Poon Hill พรุ่งนี้ไม่ได้เลย

Trekking Route : Ghorepani 2860 m. >> Poonhill 3210 m.

ตีสี่ครึ่ง...เสียงนาฬิกาปลุกมาพร้อมกับเสียงฝนตก แถมด้วยพายุลูกเห็บดังสนั่นหวั่นไหว เราเก็บไฟฉายคาดหัวไว้ข้างเตียง นอนต่อเลยละกัน รอฝนหยุดตกจนถึงหกโมงเช้า แล้วเริ่มเดิน.....

เดินพิชิต Poonhill ด้วยบรรยากาศค่อนข้างอึมครึม ท้องฟ้าปิด ฝนพรำและหนาว แล้วถ้าวันนี้เป็นวันท้องฟ้าเปิดหล่ะ...เราจะเห็นอะไรบ้าง?

ไกด์ตอบว่า ‘จะมองเห็นยอดเขาเรียงตัวสูงต่ำเป็นแนวยาว 180 องศา จากซ้ายไปขวา นั่นคือ Gurja peak 7193 m >Dhaulagiri IV 7661 m >Dhaulagiri V 7618 m>Dhaulagiri III 7715 m>Dhaulagiri II 7751 m>Dhaulagiri 8171 m>Tukche peak 6920 m>Dhampus pass 5258 m>Dhampus peak 6012 m>Nilgiri 7061 m>Annapurna I 8091 m>Annapurna south 7219 m >Hiunchuli 6441 m>Gangapurna 7455 m>Machapuchare 6997 m ‘ โอ้โห..........

ถึงวันนี้ท้องฟ้าจะปิด แต่ยังมองเห็นยอดเขาด้านหลังเรียงตัวกันลางๆ เอาเข้าจริงเราชอบนะ...ได้อารมณ์ไปอีกแบบ นั่งจิบชานมร้อนๆ หลบฝนในกระท่อมร้านค้าที่ตั้งอยู่เจ้าเดียวบนนี้

Trekking Route : Poonhill 3210 m. >> Tadapani 2630 m

เพื่อนใหม่ที่เจอกันกลางทางเดินทางกลับกันหมดแล้ว เหลือเราที่ต้องเดินไกลไปอีกหนึ่งเป้าหมายหลัก

เส้นทางต่อวันนี้เป็นทางลงยาว สลับกับเดินขึ้นเนินบ้าง ธรรมชาติหลังฝนตกชุ่มฉ่ำ อากาศดี เดินสบาย ไม่ค่อยมีเพื่อนร่วมทางเดินสวนไปมาเหมือนวันแรกๆ เจอลานจอดเฮลิคอปเตอร์สำหรับการขนส่งและช่วยเหลือ ก็ได้แต่หวังว่าทริปนี้เราจะเดินลงเขาด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย

ชาวเนปาลส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู แต่ชาวเนปาลที่อาศัยตามภูเขาจะนับถือพุทธ แต่ละลำธารใกล้เส้นทางเดิน จะพบหินซ้อนกันเป็นชั้น และยังมีคำสวดภาวนา ‘Om mani padme hum’ กับสัญลักษณ์เครื่องหมุนๆที่เรียกว่า Mani ตามศรัทธาและความเชื่อของผู้คน

เลยจากจุดนี้จะเดินเลาะ Raske mountain หน้าผาสูงใหญ่มาก ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน Banthanti , Kaski

ถึงที่พักในหมู่บ้าน Tadapani ยามเย็นหมอกลอยมาปกคลุมหมู่บ้านทั้งหมดจนมองไม่เห็นอะไรเลย ผ่านไปห้านาทีหมอกลอยหายไป แล้วก็กลับมาใหม่ สลับวนไปอย่างนี้จนฟ้ามืด

Trekking Route : Tadapani 2630 m >> Chomrong 2170 m >> Sinuwa 2360

    เส้นทางจาก Tadapani เดินลงยาวลงมาสุดด้านล่างจนถึงแม่น้ำ แล้วเดินขึ้นอีกครั้ง มีความชันบ้าง สภาพอากาศวันนี้วนลูปเช่นเคย ช่วงเช้าแดดจ้าฟ้าใส ช่วงบ่ายฝนตก ช่วงเย็นพายุเข้า

ในเส้นนี้จะเจอเพื่อนร่วมทางตั้งแต่เด็กห้าขวบจนถึงผู้ใหญ่อายุเจ็ดสิบ ดูฟิตและแข็งแรงกันทุกคน เด็กชาวบ้านน่ารักพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก

ขยะแทบไม่เจอตามทางเลย แต่ละหมู่บ้านจะมีเตาเผาขยะ ส่วนห้องน้ำก็ต้องหาเข้าตามหมู่บ้าน เพื่อลดการก่อเชื้อโรค เพราะตลอดเส้นทางเดินนั้นใกล้กับแหล่งน้ำมาก

ถึงหมู่บ้านใหญ่ Chomrong มีจุด Check Point แสดงบัตร TIMS ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ อ่อ....เส้น ABC เริ่มมีป้ายห้ามใช้โดรนแล้วนะคะ

เลย Chomrong ลงมาด้านล่าง มี Big Supermarket ไว้ให้ตุนขนมอีกรอบด้วย

ชมวิวที่พักหมู่บ้าน Sinuwa

Trekking Route : Sinuwa 2360 m >> Bamboo 2335 m >> Dovan 2870 m >> Himalaya 3270 m >> Deurali 3230 m

จะเรียกวันนี้ ของจริง เลยก็ว่าได้ สัมภาระที่จำเป็นน้อยกว่าถูกแยกไว้ที่ Sinuwa ก่อน คัดเอาเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น Power bank ก็สำคัญ ที่ Base camp ไม่มีบริการ Battery charge แต่มี Wifi ไว้คอยส่งข่าวให้ที่บ้าน

เส้นทางนี้จะเดินชันและเดินนาน เดินบนหุบเขาสูงระดับเดียวกับเมฆ

ใกล้ถึง Deurali พายุฝนกำลังจะเข้า หมอกลงจัด เมฆค่อยๆเคลื่อนตัวมาบังเส้นทาง แล้วลอยตามลมไปเรื่อย ในขณะที่เราต้องรีบเดินให้เร็วขึ้น โชคดีวันนี้ถึงที่พักก่อนฝนตกหนัก อากาศเรียกได้ว่าโคตรหนาวเลยค่ะ

Trekking Route : Deurali 3230 m >> MBC 3700 m

เช้าวันหลังพายุผ่านไป รีบออกเดินแต่เช้า แวะพักริมทางมีจุดให้สั่นกระดิ่งเอาฤกษ์เอาชัย

เสียงเฮลิคอปเตอร์บินก้องหุบเขาเลย ภาพด้านหน้าสวยเหมือนเทพนิยาย ภูเขาหิมะ ภูเขาหญ้า และลำธาร

Trekking Route : MBC 3700 m >> ABC 4130 m

วันนี้เราเดินไต่ระดับ 4000 กว่าเมตรได้ครั้งแรกในชีวิต โดยช่วงปรับตัวขึ้นนั้น การเดินจะเป็นสเต็ปซอมบี้ สองสามก้าว..หยุด สามสี่ก้าว..หยุด กว่าจะถึง Base Camp ก็เล่นเอาเหนื่อยทีเดียว

น้องหมาสามสหายนี่ก็ร่าเริงไม่เกรงใจความเหนื่อยเราเลย ฮ่า.... วิ่งไล่กันมาตั้งแต่ MBC ยัน ABC น้องๆวิ่งต้อนรับทุกคนที่มาถึง แถมยังเห่าปลุกในตอนเช้าอีกด้วย น่ารักจริงๆ

บนนี้เราอยู่กับ Breathtaking view 360 องศา หิมาลัยล้อมรอบตัว กับธงชาติไทยปลิวไสว หนาวแค่ไหน ก็รู้สึกอุ่นใจ

ตอนตีห้าฟ้าใส ทุกคนออกมาชมวิวรอบ Base Camp อากาศหนาวจนปวดมือ ลมแรงมาก แต่ทุกคนก็ยืนรอคอยดูแสงแรกของวัน

.......แสงแรกจากยอด Annapurna I ไกด์บอกว่า ‘ เมื่อได้ขึ้นไปบนนั้น สามารถมองเห็นไปถึงเมืองจีนเลย ‘ โห........

ถึงเวลาต้องอำลาแล้ว บางคนเดินกลับ บางคนนั่งฮ.กลับ ด้วยอากาศที่แปรปรวนมีคนป่วยที่ Base camp หลายคน

ภาพเฮลิคอปเตอร์บินเพื่อมา Rescue ในขณะที่เครื่องบินเล็กบินเพื่อมา Sightseeing มีเบื้องหลังเป็นยอด Machapuchare (Fish tail)

ป้ายสุดท้ายของเส้นทางเดินทริปนี้ คือ Ghandruk ต่อรถจีฟไปยังจุดเริ่มต้น ตรงจุด Check point และจุด TIMS ที่ Nayapul ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าเมือง Pokhara อีกครั้ง

ถ้าให้เราแนะนำเพิ่มเติม อยากให้อยู่ชมเมือง Pokhara ต่ออีกวัน ในวันอากาศดีๆจะมองเห็นยอดเขาหิมาลัยจากในเมืองเลยค่ะ เราไปเจอภาพวาดที่ร้านแถวโรงแรม เป็นทะเลสาปกว้างมีคนหว่านแห เบื้องหลังเป็นภูเขาหิมาลัยขนาดใหญ่ เดาว่าคงมาจากที่ไหนสักที่แถวในเมืองนี่แหละ

อาหารการกิน : ความสุขในช่วงเวลานั้น ได้แต่คิดว่า ‘ มื้อต่อไปจะกินอะไรดี ‘ ยิ่งเดินสูงขึ้นก็ยิ่งหิว ถ้าใครรู้สึกเบื่ออาหารให้กินน้อยๆบ่อยๆ ฝืนกินให้มีแรงเดินต่อ จะได้ไม่ป่วย หรืออยากจะพกอาหารจากไทย จะซอส น้ำพริก หรืออะไรที่ช่วยให้ทานได้มากขึ้น ก็ดีทีเดียวค่ะ

นี่อาหารบนยอดดอย คือดีมาก ชอบสุดคือ Chicken fried rice กับ Tomato cheese spaghetti ซด Noodle soup จริงๆคือมาม่าต้มร้อนๆนั่นแหละ

   ออร์เดิร์ฟที่ไม่มีในภาพ ชื่อ Mo-mo ถ่ายรูปไม่เคยทัน มันจะหมดก่อนทุกที อันนี้แนะนำค่ะ

Napali food อร่อยๆ เราแนะนำ Fish curry หรือแกงปลา รสชาติคล้ายอาหารไทย มีเมนูแนะนำ อยู่บนนั้นถ้าใครรู้สึกหนาวมาก ให้ซด Garlic soup ไปเลย ช่วยได้เยอะ

ตามรายทางตอนนั่งรถไป Nayapul จะเห็นเด็กๆยืนตะโกนขายอะไรบางอย่างแบบนี้ มันคือ ผลเบอร์รี่ป่า ที่เก็บจากต้นข้างทาง ราคา 50 RP

ผลไม้หลังอาหารทุกมื้อเป็นแอปเปิ้ลสด กล้วยที่นี่แบ่งขายเป็นชิ้นๆ มีขนมขายตลอดทาง ที่ต้องจิบทุกเช้าจะเป็น ชานมร้อนๆ ชอบมาก.....

ที่พัก : เรานอนห้องเดี่ยว บางหมู่บ้านมีปลั๊กไฟในห้องเลย บางหมู่บ้านต้องไปแชร์กับเพื่อนในห้องอาหาร ส่วน Hot shower ราคาเฉลี่ย 150-200 RP

Tips : กินให้อิ่ม นอนให้พอ ถนอมเนื้อตัว ค่อยๆเดิน เหนื่อยก็พัก สนับสนุนซื้อของตามหมู่บ้านเต็มที่ไปเลย ราคาไม่ได้แพงมาก ชาวบ้านจะได้มีรายได้


อีกหลายเส้นทางของเรา www.facebook.com/Inspiremyjourneys

InspireMyJourneys

 วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 23.28 น.

ความคิดเห็น