นอกจากวิหารเซนต์โซเฟียแล้ว ในสมัยจักรพรรดิจัสตินเนียน ซึ่งเป็นยุคที่อาณาจักรไบแซนไทน์รุ่งเรืองถึงขีดสุดยังมีอีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้กัน แถมยังมากไปด้วยความอัศจรรย์ เพราะสิ่งก่อสร้างนี้ไม่ได้อยู่บนดินเหมือนสิ่งก่อสร้างทั่วๆไป แต่อยู่ใต้ดินลึกลงไปนับสิบๆเมตร สิ่งก่อสร้างที่พูดถึงนี้คือ อ่างเก็บน้ำใต้ดินเยเรบาทัน

5b8ifc5rqnyw

อ่างเก็บน้ำใต้ดินเยเรบาทันอยู่กึ่งกลางระหว่างมัสยิดสุลต่านอาห์เมตกับวิหารเซนต์โซเฟีย แต่เพราะอยู่ใต้ดินเราจึงมองหาสถานที่แห่งนี้ไม่พบ เคนจึงลองใช้ GPS จากโทรศัพท์มือถือหาตำแหน่งที่ตั้ง พบว่าเยเรบาทันนั้นอยู่ใต้ดินบริเวณที่เรายืนอยู่ อันเป็นที่ตั้งของเสาหินมิเลียน (Milion) ซึ่งเป็นเสาหินสมัยโรมัน ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวัดระยะทางจากเมืองอิสตันบูลหรือคอนสแตนติโนเปิลในอดีตไปยังเมืองต่างๆ หรือก็คือหลักกิโลเมตรที่ศูนย์นั้นเอง

yqrfw8lmmg0h

ลึกลงไปใต้ดินนับสิบๆเมตร ภายใต้บรรยากาศจากแสงสลัวของหลอดไฟที่ส่องอาบเสาหินขนาดใหญ่ อันเป็นโครงสร้างรองรับเพดานของอ่างเก็บน้ำใต้ดิน เราได้เห็นความยิ่งใหญ่ทางภูมิปัญญาในวิศวกรรมการก่อสร้างของชาวไบแซนไทน์ในอดีตเมื่อราว 1,500 ปีก่อนที่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำใต้ดินได้สำเร็จ โดยปราศจากเครื่องมืออันทันสมัยเหมือนยุคปัจจุบัน ในขณะที่ชาวเติร์กที่มาปกครองอาณาจักรนี้ภายหลัง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใต้นครที่เขาปกครองอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่น่าอัศจรรย์ขนาดนี้ซ่อนอยู่ 

p8rd1n2d4mzi

จนเมื่อศตวรรษที่ 16 มีการค้นพบอ่างเก็บน้ำใต้ดินแห่งนี้โดยบังเอิญ ชาวเติร์กจึงได้รู้ความจริงว่า ใต้นครอิสตันบูลแห่งนี้ถูกชาวไบแซนไทน์เจาะเป็นอุโมงค์เสียจนพรุน โดยอีกไม่กี่วันหลังจากนี้ เมื่อเราได้ไปเยือนเมืองคัปปาโดเกีย ซึ่งอยู่ตอนกลางของดินแดนอนาโตเลีย ในทวีปเอเชีย เราจึงได้รู้ว่าการขุดอุโมงค์ใต้ดินนั้นเป็นเรื่องทั่วไปที่แสนธรรมดาเหลือเกินสำหรับชาวไบแซนไทน์

2j1tlohb9miq

นอกจากเยเรบาทันแล้ว ในอิสตันบูลที่อบอวนไปด้วยกลิ่นอายของเงาอดีตแห่งนี้ ยังมากไปด้วยอ่างเก็บน้ำใต้ดินนับร้อยแห่ง ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง และในยามศึกสงคราม แต่ไม่มีแห่งไหนจะยิ่งใหญ่เท่าเยเรบาทัน เพราะอ่างเก็บน้ำใต้ดินแห่งนี้มีความกว้างถึง 65 เมตร ในขณะที่มีความยาวจนสุดสายตาจะหยั่งเห็นนั้นยาวถึง 140 เมตร จึงสามารถเก็บน้ำได้มากถึง 80,000 ลูกบาศก์เมตร

2kf65tm9ksdx

เราเดินไปตามทางเดินที่จัดทำขึ้นภายในอ่างเก็บน้ำ ยิ่งเดินลึกเข้าไปเรายิ่งเห็นความงดงามอันเกิดจากการสะท้อนของแสงไฟบนผิวน้ำ และอาบไล้ไปบนผนังของเสาค้ำยันเพดานแต่ละต้น ที่มีมากถึง 336 ต้น อีกทั้งบรรดาเสาแต่ละต้น ไม่ได้สร้างโดยเน้นแต่ความแข็งแรงเท่านั้น หากแต่ที่หัวเสายังสร้างอย่างวิจิตรบรรจงตามศิลปะโรมัน แบบโครินเธียน (Corinthian) ที่เน้นความหรูหรา โดยประดับประดาด้วยลวดลายใบไม้ ทำให้ความรู้สึกในขณะนั้นเหมือนเราเดินอยู่ภายในวิหารอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพเจ้า 

kto4p6cvqtoz

เมื่อเดินลึกเข้าไปจนสุดทางเราได้พบกับเสา 2 ต้นที่มีลักษณะพิเศษกว่าเสาใดๆ เพราะฐานเสา 2 ต้นนี้ถูกสลักเป็นรูปศีรษะนางเมดูซ่า นางเมดูซ่านี้มีผมเป็นงู ชาวกรีกโรมันมีความเชื่อว่าหากใครสบตากับนาง ผู้นั้นจะกลายเป็นหิน แต่ไม่รู้เป็นการแก้เคล็ดหรืออย่างไร รูปสลักนางเมดูซ่าที่ปรากฏบนเสาจึงอยู่ในลักษณะศีรษะกลับหัว กับศีรษะตะแคง และเหตุที่นางไม่สามารถทำร้ายให้ใครเป็นหินได้คงเพราะนางมองภาพสะท้อนของนางเองที่ปรากฏบนผิวน้ำ ทำให้กลายเป็นหินไปเสียเอง

ubb3pesdrv9y
3boklq87ylye
Weerasak Thiantanawat

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 13.43 น.

ความคิดเห็น