เรายังคงวนเวียนอยู่ในย่านจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต เพราะย่านเมืองเก่าแห่งนี้มากไปด้วยโบราณสถานที่น่าชมนับสิบแห่ง และหนึ่งในนั่นคือ พระราชวังทอปกะปิ พระราชวังแห่งแรกของสุลต่านแห่งออตโตมัน

ประตูทางเข้าพระราชวังแห่งนี้มีลักษณะเป็นป้อมปราการ โดยมีหอสูงหลังคาเป็นทรงแหลมสูงขนาบข้าง เพราะก่อนที่จะเป็นพระราชวังของสุลต่านแห่งออตโตมัน เคยเป็นป้อมปราการในสมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ที่สร้างเพื่อป้องกันวิหารเซนต์โซเฟียจากข้าศึกที่อาจเข้ามาทางช่องแคบบอสฟอรัสหรือทะเลมาร์มารา แต่เมื่อชาวเติร์กสามารถยึดครองแผ่นดินนี้ได้ ในปีค.ศ.1466 สุลต่านเมห์เมตที่ 2 จึงเนรมิตพื้นที่อันเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งนี้ ให้กลายเป็นพระราชวังที่แสนยิ่งใหญ่และงดงามอันเป็นที่ประทับของสุลต่านถึง 25 พระองค์ เป็นเวลายาวนานร่วม 400 ปี

เมื่อสองเท้าก้าวสู่เขตพระราชวัง สิ่งแรกที่ต้อนรับผู้มาเยือนคือสวนสวยขนาดใหญ่ เมื่อกวาดสายตาโดยรอบแล้ว พบว่าภายในพื้นที่ที่กว้างใหญ่แห่งนี้มากไปด้วยเหล่าพระตำหนักน้อยใหญ่ ปัจจุบันพระตำหนักเหล่านี้ได้กลายสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงข้าวของ เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับอันล้ำค่าขององค์สุลต่านในสมัยออตโตมัน รวมถึงเครื่องถ้วยชามพอร์ชเลนของราชวงศ์หยวน หมิง และชิงกว่าหมื่นชิ้น อันเป็นเครื่องสะสมของสุลต่านแห่งออตโตมัน ที่เกิดจากการทำการค้าบนเส้นทางสายไหมกับประเทศจีน ซึ่งต้องยอมรับว่าการค้าจากเส้นทางสายไหมนี่เอง ที่เป็นหนึ่งในที่มาของความมั่งคั่งของอาณาจักรออตโตมัน

สำหรับห้องที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากห้องท้องพระคลังอันเป็นที่เก็บสมบัติล้ำค่ามากมาย อันสะท้อนถึงความมั่งคงของอาณาจักรออตโตมันในยุคที่รุ่งเรือง จนเป็นอาณาจักรที่ทรงอิทธิพลในยุโรป ไฮไลท์ของสมบัติเหล่านี้คือ กริชแห่งทอปกาปิ ที่ประดับด้วยอัญมณีเลอค่า ตัวด้ามประดับด้วยมรกตขนาดใหญ่ 3 เม็ด พร้อมด้วยเพชรถึง 86 กะรัต

สำหรับคนไทยแล้วมีสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่พลาดชม นั่นคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอัญเชิญมาถวายแก่สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 ในการเสด็จฯเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับอาณาจักรออตโตมัน เมื่อปีค.ศ.1891

หลายห้องในพระราชวังยังคงถูกรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม เช่น ห้องประทับ ห้องบรรทม ทำให้เห็นถึงความมั่งคั่งของสุลต่านในอดีต จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอีกหนึ่งมรดกโลกแห่งนครอิสตันบูล ซึ่งน่าเสียดายมากที่ภายในพระตำหนักส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ จึงทำได้เพียงชมด้วยสายตาและเก็บไว้ในความทรงจำ

แม้ไม่สามารถเก็บภาพภายในพระตำหนักได้ แต่สำหรับภายนอกแล้วสามารถถ่ายภาพได้อย่างหน่ำใจ โดยพระตำหนักแต่ละหลังนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างสวยงาม ด้วยศิลปะออตโตมันที่มีลวดลายโลหะสีทองประดับไว้อย่างงดงาม พร้อมด้วยการประดับกระเบื้องที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์

เพราะตำแหน่งที่ตั้งที่แสนโดดเด่น โดยเป็นจุดบรรจบของ 3 ผืนน้ำ คือ ช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus) อ่าวโกลเดนฮอร์น (Golden Horn) และทะเลมาร์มารา (Marmara Sea) ทำให้ระเบียงของพระราชวังเป็นจุดชมวิวชั้นเลิศ ที่สามารถมองเห็นการบรรจบกันของผืนน้ำทั้งสาม รวมถึงตัวเมืองทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย จึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดสุลต่านเมห์เมตที่ 2 จึงทรงพอพระทัยจนตัดสินใจสร้างพระราชวังทอปกะปิ ณ ที่แห่งนี้


ไม่ใช่แค่พระตำหนักต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นอย่างงดงามเท่านั้น แต่ภายในพระราชวังแห่งนี้ยังมีฮาเร็ม ซึ่งต้องซื้อบัตรค่าเข้าต่างหาก เพื่อนๆที่เริ่มหมดแรงจากการเดินชมพระราชวังจึงถอดใจนั่งพักอยู่ใต้ร่มเงาพระตำหนัก ปล่อยให้ผมเข้าไปชมฮาเร็มเพียงคนเดียว

ได้ยินคำว่า “ฮาเร็ม” เชื่อว่าหลายคนคงสร้างภาพไปต่างๆนานา ในทำนองวิมานบนดินขององค์สุลต่านในการเสพสมกับเหล่านางสนมนับสิบนับร้อย แต่ความจริงที่เห็นนั้นต่างจากที่คิดไว้ค่อนข้างมาก เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงนั้นเป็นไปตามคำสอนของศาสนาอิสลามที่ห้ามไม่ให้คนแปลกหน้าเห็นผู้หญิงในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมารดา ภรรยา ลูกสาวและข้าทาสบริวาร ชาวออตโตมันจึงต้องกั้นอาณาเขตในบ้านไว้เป็นที่อยู่สำหรับผู้หญิงเหล่านั้น ฉะนั้นคำว่า “ฮาเร็ม” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับ จึงหมายถึง สถานที่ต้องห้าม โดยถือกำเนิดครั้งแรกในสมัยอาณาจักรออตโตมันนี่เอง

ฮาเร็มแห่งนี้สร้างขึ้นสมัยสุลต่านสุไลมาน เมื่อปีค.ศ.1550 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของผู้หญิงมากถึง 5,000 คน เพราะเป็นที่รวมของผู้หญิงจำนวนมาก ภายในฮาเร็มแห่งนี้จึงแบ่งเป็นห้องหับมากมายร่วม 300 ห้อง แม้แต่ละห้องจะประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลวดลายสวยงาม แต่บรรยากาศค่อนข้างอับทึบ โดยแทบจะปราศจากการเล็ดรอดเข้ามาของแสงแดด ทำให้คิดไปถึงคุณภาพชีวิตของเหล่านางสนมนับพันคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่แห่งนี้โดยแทบไม่มีโอกาสออกไปสัมผัสโลกภายนอก นั้นคงไม่ค่อยดีอย่างที่เราเข้าใจกันนัก แถมยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดจากมารดาสุลต่าน ซึ่งหากเป็นที่ถูกใจ หรือมีบุตรธิดาให้สุลต่านก็คงโชคดีไป แต่หากไม่ใช่ ชีวิตในฮาเร็มของพวกเธอเหล่านั้นคงไม่ต่างจากการถูกกักขังไว้ในโลกใบเล็กที่มองไม่เห็นแสงสว่างของอนาคต

เมื่อสิ้นยุคการปกครองโดยสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เรื่องราวชีวิตในฮาเร็มก็ถูกปิดฉากลงอย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดม่านให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของเหล่านางสนม ที่ถูกปกปิดมานานนับร้อยๆปี

ในเวลาเย็นก่อนที่พระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า เรากลับมาที่ยูธโฮสเทล เพื่อเตรียมเดินทางไปยังเมืองคัปปาโดเกีย โดยเราได้ซื้อตั๋วรถโดยสารผ่านทางยูธโฮสเทลเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวาน

เมื่อถึงเวลานัด รถตู้ก็พาเราพร้อมด้วยนักท่องโลกอีกหลายคนไปส่งยังสถานีขนส่งอิสตันบูล รูปแบบอาคารผู้โดยสารของที่นี่ค่อนข้างแตกต่างจากบ้านเรา เพราะแต่ละบริษัทขนส่งจะมีช่องจอดรถอยู่หน้าห้องพักผู้โดยสารของตัวเอง ไม่ใช่จอดรวมกันและมีห้องพักผู้โดยสารรวมกันแบบบ้านเรา แล้วเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้บนตั๋ว รถบัสที่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นจอดีวีดีส่วนตัว พร้อมภาพยนตร์หลากหลายเรื่องให้เลือกตามชอบ บริการ Free Wi-Fi เครื่องดื่มและของขบเคี้ยว ก็พาเราข้ามช่องแคบบอสฟอรัสจากทวีปยุโรปไปยังดินแดนอนาโตเลียในทวีปเอเชีย แผ่นดินอันเป็นฐานที่มั่นแห่งแรกและแห่งสุดท้ายของชาวเติร์ก ในการก่อร่างสร้างตัวจากการค้าบนเส้นทางสายไหม และการธำรงไว้ซึ่งเอกราชก่อนที่จะกลายเป็นสาธารณรัฐตุรกีในปัจจุบัน


กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 09.47 น.