ตราตรวจคนเข้าเมืองถูกประทับลงบนหน้ากระดาษของหนังสือเดินทาง ปะปนกับตราประทับที่มีก่อนหน้านี้ หากแต่การประทับตราในครั้งนี้ มีความสำคัญกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมตัดสินใจเดินทางท่องโลกเพียงคนเดียว ...

ทางหลวงหมายเลข 13 เส้นทางสายหลักที่พาดผ่านตั้งแต่ลาวเหนือ ยัน ลาวใต้กำลังนำรถโดยสารประจำทางเที่ยวบ่ายสองที่เนืองแน่นไปด้วยผู้โดยสารออกจากนครหลวงเวียงจันทร์ ผ่านแขวงเชียงขวาง สู่เมืองซำเหนือ เมืองหลวงของแขวงหัวพัน แขวงที่อยู่สุดเขตแดนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ติดขอบประเทศ จึงทำให้ซำเหนือยังคงบริสุทธิ์เหมือนดั่งดินแดนลับแลของนักเดินทางทั่วไป ซึ่งนั่นคงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ผมเลือกพาชีวิตไปสัมผัสดินแดนแห่งนี้

“ไปซำเหนือเลยบ่ อยู่ไกลหลายเด้อ ไปตอนบาย ถึงมื้ออื่นเซ้า” (ไปถึงซำเหนือเลยหรือ อยู่ไกลมากนะ ไปตอนบ่าย กว่าจะถึงก็ตอนเช้า)
“ไกลขนาดนั้นเลยหรือลุง ดูจากแผนที่แล้วระยะทางแค่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรเอง”
“ถนนเมืองลาวมันบ่ดี่ ทางส่วนใหญ่มันคดเคี้ยวเทิงเขา วนไป่วนมาจนเวียนหัว” (ถนนเมืองลาวมันไม่ดี ทางส่วนใหญ่มันคดเคี้ยวบนเขา วนไปวนมาจนเวียนหัว)
ยังไม่ทันที่บทสนทนาของผมกับลุงคำผู้นั่งข้างๆจะจบลง เด็กรถก็ส่งเสียงว่าผู้ใดต้องการถุงยางบ้าง แล้วบรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ในรถต่างพากันยกมือขอกันคนละ 2-3 ใบ เล่นเอาผมตกใจเพราะไม่คิดว่าสาวๆเมืองลาวจะใจกล้ากันขนาดนี้ แต่แล้วผมก็ถึงบางอ้อเมื่อเด็กรถเดินแจกเจ้าถุงยางที่ว่านี้ เพราะที่แท้มันก็คือถุงพลาสติกที่แจกไว้สำหรับรองรับอาเจียนเมื่อเกิดอาการเมารถนั่นเอง
“เอาถุงยางเผื่อไว้ซักใบบ่ ทางมันน่าเวียนหัวหลายอยู่ แต่เดี๋ยวนี่หยังดี่กว่าเมื่อก่อน เพราะทางมันซื่อตรงจากเชียงขวาง ถ้าเป็นเมื่อก่อน จะไปซำเหนือที ต้องอ้อมไปถึงหลวงพระบาง แล้วทางมันแย่กว่านี่หลายเด้อ ยิ่งถ้าเป็นหน้าฝน บางครั้งนั่งรถกันเมิดมื้อถึงจะฮอด” (ไม่เอาถุงพลาสติกเผื่อไว้สักใบหรือ ทางมันน่าเวียนหัวมาก แต่สมัยนี้ยังดีกว่าสมัยก่อน เพราะมีทางตัดตรงจากเชียงขวาง ถ้าเป็นสมัยก่อน จะไปซำเหนือที ต้องอ้อมไปถึงหลวงพระบาง แล้วทางมันก็แย่กว่านี้มาก ยิ่งถ้าเป็นหน้าฝน บางครั้งนั่งรถเป็นวันจึงจะถึง)

ลุงคำเล่าเรื่องราวแห่งอดีตของเส้นทางสายนี้ให้ผมฟัง ฟังไปก็นึกถึงภาพความโหดของเส้นทางนี้ไป ที่ว่าโหดนี้ ไม่ใช่เฉพาะความไกลและยากลำบากของเส้นทาง แต่หมายรวมถึงการเสี่ยงภัยที่อาจต้องเผชิญกับการปล้นสะดมของพวกม้งติดอาวุธ จนรถประจำทางแต่ละคันต้องมีทหารลาวเพื่อรักษาความปลอดภัย ซึ่งเมื่อผมหันหลังไปมองยังท้ายรถ ก็พบปืนสะพายอยู่บนไหล่ของทหารลาวนอกเครื่องแบบที่ส่งยิ้มให้อย่างอารมณ์ดี
“เห็นทหารถือปืนแล้วบ่ต้องย่าน ตอนนี้พวกม้งติดอาวุธถูกปราบไปเมิดแล้ว เส้นทางนี้ปลอดภัย แต่กันไว้ก็ดีกว่าเม่นบ่”(เห็นทหารถือปืนแล้วไม่ต้องกลัว ตอนนี้พวกม้งติดอาวุธถูกปราบไปหมดแล้ว เส้นทางนี้ปลอดภัย แต่กันไว้ก็ดีกว่าจริงไหม)
“ก็จริงครับ แต่มันก็รู้สึกแปลกๆ แล้วนี่ลุงจะไปลงซำเหนือเหมือนผมหรือเปล่า”
“บ่ บ้านลุงอยู่แค่ภูคูน แต่แค่นี้กว่าจะฮอดกะมื้อแลง แล้วนี่คิดจั่งได๋คือมาผู้เดียว”(ไม่หรอก บ้านลุงอยู่แค่ภูคูนเอง แต่แค่นี้กว่าจะถึงก็ค่ำ แล้วนี่คิดอย่างไงจึงมาคนเดียว)
คำถามที่น่าจะง่ายในการตอบ หากแต่นำมาซึ่งความเงียบงันในตัวผม

จริงอยู่แม้การเดินทางท่องโลกจะไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ผมจะเดินทางคนเดียว ซึ่งนอกจากเรื่องค่าที่พัก ค่าเดินทางและใช้จ่ายอีกจิปาถะที่ไม่มีเพื่อนมาร่วมหารด้วยแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมไม่คิดที่จะเดินทางคนเดียว นั่นคือความกลัว ซึ่งไม่รู้ว่าเจ้าความกลัวนี้มันเข้ามาอยู่ในหัวผมตั้งแต่เกิดหรือไร ผมจึงได้กลัวไปเสียทุกเรื่อง ยิ่งหากต้องเดินทางคนเดียวไปยังต่างแดนด้วยแล้ว ในหัวจะยิ่งเต็มไปด้วยความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวความแปลกถิ่นแปลกสถานที่ กลัวถูกหลอก กลัวปัญหาเฉพาะหน้า และที่สำคัญที่สุดคือ กลัวความเหงา

แต่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งลึกๆที่หัวใจเรียกร้องหรืออย่างไร ในการเดินทางท่องโลกหลายครั้งที่ผ่านมา ผมจะมักแอบฉายเดียวไปยังบางสถานที่ที่สนใจเป็นการส่วนตัว โดยแยกตัวจากเพื่อนๆ ซึ่งนั่นทำให้ผมได้รับรู้ว่า แม้การเดินทางไปกับเพื่อนๆจะอุ่นใจและมีข้อดีในหลายเรื่อง แต่การเดินทางคนเดียวก็ไม่ได้น่ากลัวหรือมีแต่ข้อเสียเสมอไป เพราะแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าเพียงคนเดียว หรือจมอยู่กับความเหงาในบางครั้ง แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมานั่นคือ หัวใจที่เปิดกว้างในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ และได้รู้จักกับผู้คนบนเส้นทางได้มากกว่าการผูกตัวเองไว้กับเพื่อนๆชนิดแยกกันไม่ออก
และคงเป็นเพราะทุกคนมีหัวใจเป็นของตัวเอง แต่ละคนจึงมีเส้นทางที่ต่างกันไป ในวันนี้ผมจึงตัดสินใจที่จะไปในเส้นทางที่ใจของตัวเองเป็นผู้เรียกร้อง การเดินทางคนเดียวในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

ภาพทิวเขาหินปูนที่มีรูปทรงแปลกตากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการมาถึงเมืองวังเวียง แต่เพียงไม่นาน ภาพอันงดงามเหล่านั้นก็ถูกแทนที่ด้วย เหล่าปลาล้า ปลาแดก ปลาตากแห้งที่ถูกตั้งและแขวนอยู่เต็มหน้าร้านค้าตลอดสองฟากถนน ซึ่งนอกจากการจอดแวะให้ผู้โดยสารไปปลดปล่อยทุกข์ข้างทางแล้ว รถประจำทางของลาวยังแวะจอดให้ผู้โดยสารได้ลงไปจับจ่ายสารพัดปลามาเป็นของฝาก อย่างคู่สามีภรรยาที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามผม หลังจากรถจอดได้ไม่นานก็หิ้วปลาตากแห้งมา 1 กล่องใหญ่ โชคดีที่เป็นปลาตากแห้ง หากเป็นปลาล้ามีหวังผมได้สูดกลิ่นอันหอมหวนไปตลอดคืน
ในเวลานี้ดวงอาทิตย์ใกล้ลาลับขอบฟ้าเต็มที ทิวเขาหินปูนเริ่มหายลับไปจากสายตา สภาพเส้นทางแปรเปลี่ยนจากทางราบเป็นทางไต่ระดับตามความสูงชันของขุนเขา ซึ่งส่งผลให้ความเร็วรถที่ช้าอยู่แล้ว ยิ่งช้าลงมากกว่าเดิม
จากวังเวียน ผ่านเมืองกาสี สู่แยกภูคูน ผู้โดยสารบนรถเริ่มทยอยลงตามหมู่บ้านรายทาง และที่ภูคูนนี้ ที่นั่งข้างผมก็ปราศจากเจ้าของ เมื่อลุงคำหิ้วกล่องสัมภาระใบโตลงจากรถโดยสารในเวลาพลบค่ำ และความมืดมิดที่แฝงไปด้วยความเงียบเหงานี้เอง ที่ทำให้เสียงพูดคุยในรถเริ่มเงียบลง ผู้โดยสารส่วนใหญ่เริ่มหลับใหล และผมเริ่มจมดิ่งอยู่ในความคิดของตัวเองอีกครั้ง
จังหวะความเร็วรถที่เชื่องช้านำพาให้ผมหลับใหลไปตามช่วงเวลาแห่งราตรีที่ความหนาวเย็นแผ่ตัว แต่แล้วช่วงเวลาแห่งการหลับใหลก็สิ้นสุดลงเมื่อรถยางแตก !
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 21.40 น.